ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ทนายแจม" แนะกฎหมาย 2 ฉบับสู้คดีพ่อทำร้ายลูก

อาชญากรรม
30 พ.ย. 64
16:48
15,049
Logo Thai PBS
"ทนายแจม" แนะกฎหมาย 2 ฉบับสู้คดีพ่อทำร้ายลูก
"ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์" ทนายด้านสิทธิมนุษยชน แนะข้อกฎหมายกรณีพ่อทำร้ายร่างกายลูก พร้อมเปิดมุมมองในฐานะแม่กับทางออกความรุนแรงในครอบครัว ชี้ควรเริ่มจากการปรับทัศนคติและแนวคิดว่า "พ่อแม่ไม่ใช่เจ้าชีวิตลูก"

จากเพจอยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทิร์น Part 1 เปิดคลิปพ่อทำร้ายลูกผ่านเฟซบุ๊ก ขณะที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ดัน #พ่อทำร้ายลูก ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ถึงความเหมาะสมในการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

(อ่านข่าวเพิ่มเติม : เพจดังเปิดคลิป #พ่อทำร้ายลูก โซเชียลวิจารณ์ดันแฮชแท็กติดเทรนด์)

"ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์" หรือทนายแจม ทนายด้านสิทธิมนุษยชน เปิดเผยมุมมองด้านกฎหมายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ในอดีตที่ผ่านมาสังคมไทยมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมเรื่องพ่อแม่เป็นเจ้าชีวิตของลูก เนื่องจากพ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิด ทำให้เกิดกฎหมายที่สอดคล้องกันหรือเรียกว่าคดีอุทลุม โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 บัญญัติว่า "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้" จนกลายเป็นทางตันสำหรับลูกที่ถูกทำร้ายในครอบครัว


แม้กฎหมายนี้จะใช้มาจนถึงปัจจุบัน แต่ท่ามกลางการเรียนรู้เรื่องสิทธิทางร่างกายและความเข้าใจในสังคมทำให้เกิดการผลักดันจนคลอดกฎหมายเพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัว มาตรา 4 ผู้ใดกระทําการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทําความผิดฐานกระทําความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 ซึ่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นทางออกสำหรับลูกที่ถูกทำร้ายในครอบครัว ซึ่งเด็กที่มีอายุมากหน่อยก็จะสามารถสู้คดีได้ ข้อกังวลคือเด็กเล็กที่ยังไม่เข้าใจและยังอธิบายหรือพูดไม่ได้ว่าถูกทำร้าย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว เด็กที่เติบโตมาโดยมีพ่อแม่เป็นโลกทั้งใบก็ยังจำเป็นจะได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่อยู่ ทำให้เกิดคดีความมักเกิดการไกล่เกลี่ย เพื่อปรับพ่อแม่ให้พร้อมเลี้ยงลูกและให้เด็กยังสามารถอยู่กับครอบครัวได้ หรือหากพิจารณาแล้วพบว่าพ่อหรือแม่ที่ทำร้ายร่างกายลูกนั้นขาดคุณสมบัติในการเลี้ยงดู หน่วยงานกลางทั้งมูลนิธิต่าง ๆ หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะก้าวเข้ามาดูแลไปตามขั้นตอนทั้งการประสานไปอยู่กับญาติ หรือบางกรณีก็อาจมีการหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้ต่อไป 

มุมมองแม่กับทางออกความรุนแรงในครอบครัว

สำหรับข้อกฎหมายที่มีบทลงโทษที่ชัดเจนอาจจะไม่ใช่คำตอบในระยะยาว "ทนายศศินันท์" ในฐานะคุณแม่ลูกสอง สะท้อนว่า การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวต้องเริ่มต้นด้วยการปรับทัศนคติและมุมมอง โดยเฉพาะการปลูกฝังในเด็กเล็กว่า การใช้ความรุนแรงหรือการทำร้ายร่างกายไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันโรงเรียนก็ต้องสอนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิทางร่างกายให้เด็กได้รู้และเข้าใจว่า เมื่อถูกทำร้ายร่างกายไม่ใช่เรื่องปกติ และควรดำเนินการอย่างไรต่อไป

พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้ว่าการทำร้ายร่างกายไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างในการไม่ใช่ความรุนแรง แม้ว่าเด็กจะทำผิดหรือไม่เชื่อฟังก็ตาม เพราะเขาก็มีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเขา


ทั้งนี้ ทนายศศินันท์ ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีในสังคมที่เยาวชนส่วนใหญ่เริ่มรู้และเข้าใจถึงสิทธิเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง และพร้อมจะต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองมากขึ้น ส่วนการเพิ่มโทษกรณีการทำร้ายร่างกายในครอบครัวนั้น ส่วนตัวยังมองว่าไม่ใช่ทางออก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นกันในต่างประเทศว่าแม้โทษจะหนักแต่คดีอาชญากรรมก็ไม่ได้ลดน้อยลง

การปรับทัศนคติและแนวคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรื่องนี้ โดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแนวคิดของพ่อแม่ว่าลูกไม่ใช่สมบัติของพ่อแม่ และพ่อแม่ไม่ใช่เจ้าชีวิตของลูก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง