หลังจากหาซีรีส์ใหม่ ๆ หวังจะดูในช่วงวันหยุดยาว แต่ก็ยังไม่ถูกใจเรื่องไหนสักที จนเลื่อนไปเจอหน้า "หยางหยาง" ในชุดยูนิฟอร์มจากซีรีส์จีนเรื่อง "เทพยุทธ์เซียนกลอรี่" แม้จะเป็นซีรีส์ที่ดูจบไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 แต่ส่วนตัวยอมรับว่า แม้หยางหยางจะผูกพันกับบทเล่นเกม หรือพัฒนาเกมในซีรีส์ดังหลายเรื่องทั้ง เวยเวย เธอยิ้มโลกละลาย หรือเรื่องล่าสุดที่ดังเป็นพลุแตก ดุจดวงดาวเกียรติยศ You Are My Glory แต่ "เทพยุทธ์เซียนกลอรี่" นับว่าเป็นซีรีส์ขึ้นหิ้งที่สะท้อนชีวิตเกมเมอร์หรือนักกีฬาอีสปอร์ตได้อย่างเข้มข้นและน่าติดตามแม้จะกลับมาดูวนซ้ำอีกครั้งก็ยังไม่เบื่อ
ดูซีรีส์เป็นอาชีพสัปดาห์นี้ ขอหยิบยกซีรีส์ "เทพยุทธ์เซียนกลอรี่" ซึ่งสร้างมาจากนิยายเกมอีสปอร์ตจากนักเขียนหูเตี๋ยหลาน ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทั้งฉบับนิยายออนไลน์ และหนังสือจนถูกนำไปสร้างในเวอร์ชันต่าง ๆ ทั้งอนิเมชัน ภาพยนตร์ รวมถึงซีรีส์ฟอร์มยักษ์ ที่บอกเล่าเรื่องราวของ "เยี่ยซิว" (หยางหยาง) นักกีฬาอีสปอร์ตผู้ถูกยกย่องให้เป็นตำนานแห่งวงการเกมกลอรี่แต่กลับถูกบังคับให้วางมือและละทิ้งไอดีระดับเทพไปกะทันหัน
"เยี่ยซิว" ต้องกลายมาเป็นพนักงานร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ซิงซิน ก่อนจะหวนเข้าสู่วงการเกมเมอร์อีกครั้งด้วยการสร้างไอดีใหม่ พร้อมเขียนตำนานบทใหม่ในเกมเซิฟเวอร์ใหม่พร้อมอาวุธคู่ใจร่มแสนกล "เยี่ยซิว" รวบรวมพรรคพวกคอเดียวกันในร้านเกมรวมถึงคนที่เคยอยู่ในวงการแต่ไปไม่ถึงฝันมาร่วมกันฟอร์มทีมในนาม "สโมสรซิงซิน" เพื่อทวงบัลลงก์แชมป์อีกครั้ง
"เทพยุทธ์เซียนกลอรี่" เรียกได้ว่าเป็นซีรีส์ที่ไม่มีซีนรักใคร่พระเอก-นางเอกเลยก็ได้ แต่เรื่องมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมทีมนั้นมีเต็มร้อย สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเดินทางสายอีสปอร์ตที่นอกจากจะมีฝีมือแล้วทีมเวิร์กก็เป็นเรื่องสำคัญ
อีกสิ่งหนึ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้ถ่ายทอดอาชีพนักกีฬาอีสปอร์ตออกมาให้ทุกคนได้เห็นว่าการจะคว้าแชมป์ได้ถ้วยรางวัลหรือเงินหลักล้านนั้นต้องผ่านการฝึกฝนอย่างเป็นระบบ จริงจัง และมีวินัยตามตารางฝึกซ้อมที่กำหนด ทุกกลยุทธ์ ทุกการเคลื่อนไหวผ่านการประเมินความเป็นไปได้ด้วยเปอร์เซ็นต์ทศนิยมหลายตำแหน่ง พร้อมการดูคลิปการแข่งขันย้อนหลังเพื่อศึกษาคู่แข่งอย่างละเอียดเพื่อนำไปสู่ชัยชนะในสังเวียนจริง
จากเงินรางวัล 8,000 บาทถึงวันชูถ้วยแชมป์โลก
เรื่องราวคอมมิวนิตี้ในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่นำไปสู่การแข่งขันบนเวทีระดับประเทศคล้ายคลึงกับชีวิตของ "ไกด์ ชัชพงศ์" ซึ่งถูกชักชวนจากเพื่อน ๆ ในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ใกล้บ้านให้ได้รู้จักกับเกม Audition หรือเต้นยอดนิยมเมื่อปี 2007 ด้วยความท้าทายให้ได้ฝึกสมาธิ ประสาทสัมผัสกับการฝึกจับจังหวะเพลง ทั้งสายตาและนิ้วประสานกัน และเพลงใหม่ที่อัปเดตต่อเนื่อง กลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ ไกด์ ชัชพงศ์ ยังคงยืดหยัดเล่นเกมAudition มาจนถึงปี 2021 แม้วันนี้บางคนอาจลืมเกมส์เต้นยอดนิยมเกมนี้ไปแล้ว
ไกด์ ชัชพงศ์ บอกเล่าเส้นทางก่อนจะมาถึงวันที่เป็นแชมป์โลกให้ไทยพีบีเอสฟังว่า การเดินบนถนนสายนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลังมีคนเห็นลีลาการเล่นจากคลิปวิดีโอในยูทูบก็ได้ชักชวนให้ ไกด์ ชัชพงศ์ ลงสนามแข่งขันทัวร์นาเมนต์แรกในปี 2014 รายการ Audition Thailand Championship ก่อนจะเป็นแชมป์ภาคใต้ และได้เงินรางวัลจากเวทีนั้น 8,000 บาท ความหวังที่จะสร้างรายได้จากการเล่นเกมก็เริ่มขึ้น
เมื่อตั้งเป้าหมายแล้วไกด์ ชัชพงศ์ ก็เดินสายลงแข่งขันต่อเนื่อง แต่ถึงวันที่เริ่มท้อจนเกือบจะหันหลังให้เกม Audition เพราะเข้าไปไม่ถึงรอบชิงชนะเลิศสักครั้ง แต่แล้ววันของไกด์ ก็มาถึงเมื่อปี 2018 เพื่อนในแวดวงเกมส์ Audition ได้ชักชวนลงสนาม Road to AWC 2018 ก่อนจะได้แชมป์
จากสนามนี้ทำให้ไกด์ ชัชพงศ์ ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันที่ประเทศเกาหลีใต้จนคว้าแชมป์โลกจากรายการ Audition World Championship 2018 (AWC 2018) ได้สำเร็จ และปีนี้ไกด์ก็การันตีอันดับหนึ่งของโลกด้วยแชมป์โลกจาก EILAT 2021 อีกครั้งในนามนักกีฬาทีมชาติไทย
1 ใน 1,000 ที่จะสำเร็จกับวงการอีสปอร์ต
นักกีฬาอีสปอร์ตทั่วโลกเริ่มฉายแววโดดเด่นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยเอง แต่ "วิทยา แสงอนันต์" เฮดโค้ชนักกีฬาทีมชาติอีสปอร์ต หรือโค้ชอั๋น ในวัย 44 ปี ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า นักกีฬา 1,000 คน จะมีคนประสบความสำเร็จ 1 คน ไม่ใช่ทุกคนเล่นแล้วจะประสบความสำเร็จ
ในประเทศไทยมีคนประสบความสำเร็จได้เงินหลักล้าน หรือไปแข่งต่างประเทศได้กลับมาสิบล้าน ส่วนระดับโลกก็ได้ร้อยล้าน เงินรางวัลที่หอมหวานทำให้การแข่งขันยิ่งดุเดือดเพื่อเฟ้นหาแชมป์ตัวจริง
ก่อนจะเข้าสู่การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตต้องแยกให้ออกก่อนว่าชอบเล่นเกมหรืออยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต รักการแข่งขันขนาดไหน บางคนไปเล่นเกมที่ร้านเกมแต่บอกพ่อแม่ว่าไปแข่งกีฬาอีสปอร์ต แบบนี้ก็ไม่ใช่ การเล่นกีฬาอีสปอร์ตต้องเป็นระบบ โดยเฉพาะระบบทีม เพื่อสร้างทีมเวิร์ก ซึ่งอาจไม่สนุกอย่างที่หลายคนคิด นักกีฬาอีสปอร์ตต้องเตรียมตัว แบ่งเวลา ฝึกซ้อมอย่างมีวินัยเหมือนนักกีฬาประเภทอื่น ๆ
คนเล่นเกมคนหนึ่ง เล่นเกมตามไลฟ์สไตล์ แต่พอเขามาเป็นทีมชาติ เขาไม่ได้เล่นเกมส์เพื่อตัวเองแล้ว แต่เขาเล่นเกมเพื่อคนอื่น เล่นเกมเพื่อนคนไทย ดังนั้น ต้องตั้งใจฝึกซ้อมอย่างมีวินัย และเป็นแบบอย่างให้นักกีฬารุ่นหลัง
ชมรมอีสปอร์ต ตจว.ขุมกำลังทีมชาติไทย
โค้ชอั๋น บอกอีกว่า ในการแข่งขันระดับสากลมีบางครั้งที่ประเทศไทยไม่ได้ส่งนักกีฬาลงแข่งในบางรายการ เพราะไม่มีนักกีฬาในเกมนั้น ๆ ซึ่งขณะนี้สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ตามนโยบายของการกีฬาแห่งประเทศไทย ประกอบกับความสนใจจากโรงเรียนในแต่ละจังหวัด ทำให้เกิดการเดินสายอบรมสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้าใจให้ครูและผู้ปกครองว่า อีสปอร์ตคืออะไร สายอาชีพอีสปอร์ตมีอะไรบ้าง เพราะในสายอาชีพอีสปอร์ตก็ไม่ได้มีเพียงอาชีพนักกีฬาเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นโค้ช ทีมงานถ่ายทอดสด หรือฝ่ายจัดการแข่งขันได้
ส่วนใหญ่เด็กจะเล่นเกม แต่ครูไม่เล่น ดังนั้น การแก้ปัญหาเด็กติดเกม คือ ทำให้ครูได้รู้ว่าเด็กกำลังทำอะไรอยู่ และให้ครูส่งต่อข้อมูลให้เด็กต่อไปว่าเขาสร้างรายได้จากสิ่งที่ชอบได้โดยไม่ต้องหลงเดินทางผิด
หลังเดินสายในหลายจังหวัด พบว่าเสียงตอบรับดีเกินคาด อย่างที่ จ.สกลนคร มีครูมาเกือบทั้งจังหวัด แล้วกลับไปตั้งชมรมในโรงเรียนแล้วกว่า 80% พร้อม ๆ กับมีการจัดการแข่งขันในจังหวัดมากขึ้นด้วย ซึ่งสมาคมฯ หวังว่า เครือข่ายที่แข็งแรงของแต่ละจังหวัดจะช่วยปั้นนักกีฬาอีสปอร์ตหน้าใหม่ให้ขึ้นมาเป็นระดับโปรก่อนจะเข้ามาเป็นขุมกำลังให้ทีมชาติได้ในอนาคต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ไกด์" แชมป์โลกเกม Audition กับเส้นทางนักกีฬาอีสปอร์ตทีมชาติไทย
อีสปอร์ตทีมชาติไทยตั้งเป้าคว้าขั้นต่ำ 3 เหรียญทองซีเกมส์ 2022
ดูซีรีส์เป็นอาชีพ : IDOL : The Coup ตีแผ่อีกมุม K-POP กับ "ไอดอล" ผู้ล้มเหลว?
ดูซีรีส์เป็นอาชีพ : "พิธีกรไลฟ์" ไม่ต้องรอ 11.11 ก็ขายได้หลักล้าน กับ Something Just Like This
ดูซีรีส์เป็นอาชีพ : From Five To Nine เมื่อ "พระญี่ปุ่น" แต่งงานได้และรวยมาก
ดูซีรีส์เป็นอาชีพ : Jirisan จอนจีฮยอน-จูจีฮุน นำทีมลุ้นระลึกกับภารกิจเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า