วันนี้ (13 ธ.ค.2564) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ประจำปี 2564 ภายใต้หัวข้อ ทะยานสู่การบินบริบทใหม่ (Thai Aviation Industry Conference 2021 : flying to the new era of Thai aviation) ว่า อุตสาหกรรมการบินมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นกลไกสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ทั้งยังก่อให้เกิดรายได้จากการบริโภค การจ้างงาน การค้า และการลงทุน
ทั้งนี้ ยอมรับว่าในปี 2563 อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงฯได้ดำเนินมาตรการ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบิน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นความต้องการการเดินทางทางอากาศจากวิกฤตที่เกิดขึ้น อาทิ มาตรการลดค่าใช้จ่าย มาตรการทางการเงิน และมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบ โดยได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ระยะ และเตรียมเดินหน้ามาตรการในระยะที่ 4 (2565-2568) ต่อไป
เตรียมจัด "แอร์โชว์ นานาชาติ"
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ตามที่สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2574 ไทยจะมีผู้โดยสารมากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก หรือมีผู้โดยสารมากกว่า 200 ล้านคนต่อปี หลังจากนี้ จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการณ์ (Action Plan) ว่า ประเทศไทยจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อจะให้ได้รับประโยชน์จากการเดินทางและรับโอกาสที่เพิ่มขึ้น จึงต้องพิจารณาการพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การใช้เทคโนโลยี, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), 5G เป็นต้น รวมถึงพิจารณาจำนวนไฟลท์บิน และการพัฒนาอาคารผู้โดยสาร (Terminal) อย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสดังกล่าว
สิ่งที่กระทรวงฯ และหน่วยงานด้านการบินที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบิน โดยในปีหน้า อาจจะมีการจัดอีเวนต์การประชุมระดับนานาชาติ (Air Show) คล้ายกับประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้ทุกคนมาเห็นว่าประเทศไทยกำลังทำอะไรบ้าง และตอบโจทย์การเป็นศูนย์กลางด้านการบินในภูมิภาคอาเซียน
การบินหลังเปิดประเทศ ปรับฟื้นตัว
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ส่วนการเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุข ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 (พ.ย.-ธ.ค. 2564) ปรับฟื้นตัวขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 หรือในปี 2562 ไมยมีผู้โดยสาร 165 ล้านคน มีปริมาณเที่ยวบิน 1 ล้านเที่ยวบิน และมีอัตราการขนส่งสินค้ามากถึง 1.5 ล้านตัน
ขณะที่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ส่งผลให้การเดินทางของผู้โดยสารลดลง 64% แบ่งเป็นผู้โดยสารต่างชาติลดลงถึง 82% เมื่อเทียบกับปี 2562 และเชื่อว่าในปีนี้ไทยจะมีปริมาณผู้โดยสารลดลง 62.7% เมื่อเทียบกับปี 2562
เร่งโอน 3 สนามบินให้ ทอท.บริหาร ชง ครม.ใน ม.ค. 65
ขณะที่ ความคืบหน้าการให้สิทธิบริหารสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินกระบี่, สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ ให้แก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงฯ เตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาภายใน ม.ค. 2565
ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกรมธนารักษ์ พิจารณาเรื่องค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งเมื่อมอบสิทธิการบริหารแล้ว ทอท.จะต้องจ่ายให้กับกรมธนารักษ์ เพราะเดิม ทย.เป็นผู้จ่าย รวมถึงการหารือกับกรมบัญชีกลาง ในเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ
ทั้งนี้ คาดว่า จะให้อำนาจการมอบสิทธิบริหารสนามบินดังกล่าว พร้อมทั้งเจรจาและกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในช่วง มี.ค.-ธ.ค. 2565 โดยในระหว่างนี้จนถึง มี.ค. 2565 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ ทย. จะดำเนินการออกใบรับรองการใช้สนามบินทั้ง 3 แห่ง อย่างไรก็ตาม ตนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการบริหารงานของ ทอท. และจะสามารถมีผลประกอบการเป็นกำไร
สำหรับการให้สิทธิ ทอท. บริหาร 3 สนามบินของ ทย.นั้น เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพความสามารถการเป็นศูนย์การขนส่งผู้โดยสารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Secondary Hub) เชื่อมต่อโหมดการขนส่งและการเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ อีกทั้ง ยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของภาคฯ รวมถึงส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวภายในประเทศและระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน ทย. จะได้รับรายได้ชดเชย เพื่อใช้ปรับปรุงด้านความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวก และใช้จ่ายในการบริหารจัดการสนามบิน
คาดปี 65 ผู้โดยสารใช้ 6 สนามบิน 62 ล้านคน
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า สำหรับปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการ 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย โดยในปี 2564 มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 20 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 9.51 แสนคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 19 ล้านคน
ขณะที่ปี 2565 คาดการณ์ว่า จะมีผู้โดยสารใช้บริการ 62 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 26 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 35 ล้านคน