ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยูเนสโกขึ้นทะเบียน "โนรา" เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ

สังคม
15 ธ.ค. 64
18:32
4,872
Logo Thai PBS
ยูเนสโกขึ้นทะเบียน "โนรา" เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน "โนรา" เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยเป็นลำดับที่ 3 ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนต่อจากโขนและนวดไทย

วันนี้ (15 ธ.ค.2564) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศรับรอง ขึ้นทะเบียนโนรา (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (16 ธ.ค.) เวลา 13.00 น.

ก่อนหน้านี้ ยูเนสโกได้ประกาศให้โขนและนวดไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการที่เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ระบุว่า “โนรา” หรือ “มโนห์รา” เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบทอดกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่องและบางโอกาสมีบางส่วนแสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าโนราเกิดขึ้นครั้งแรกที่ใด เมื่อใด แต่นักวิชาการที่สนใจเรื่องนี้ได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ใน 3 กระแสความคิดใหญ่ ๆ คือ

  • มีพัฒนาการหรือมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอินเดีย โดยเริ่มพัฒนาการจากการเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงที่เกิดขึ้นในราชสำนักภาคใต้ และพอจะเชื่อได้ว่าโนรานั้นเป็นนาฏกรรมของราชสำนักและของท้าวพระยามหากษัตริย์ในภาคใต้มาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย เห็นได้จากชื่อสถานที่ ชื่อบุคคลที่เอ่ยถึงในตำนานและบทไหว้ครูต่าง ๆ
  • เกิดจากวัฒนธรรมของคนภาคใต้ดั้งเดิม โดยโนราน่าจะเกิดขึ้นระหว่างช่วง พ.ศ.1858-2051 ในพื้นที่เมืองพัทลุงเดิม หรืออำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง โดยมองว่าเป็นการแสดงที่มีอยู่ในราชสำนักเดิม ด้วยการอ้างถึงตำนานโนราที่เชื่อมโยงกับตำนานเจ้าเมืองพัทลุงในโบราณกาล
  • เกิดจากวัฒนธรรมภาคกลางที่ขยายมาสู่ภาคใต้ โดยโนรานั้นเดิมอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและ “ชาตรี” เป็นชื่อเรียกการละเล่นของภาคใต้ที่มีมาก่อนชื่อโนรา ซึ่งชื่อชาตรีเป็นชื่อที่ชาวบางกอก (กรุงเทพ ฯ - ธนบุรี) สมัยต้นรัตนโกสินทร์หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนักเรียกการละเล่นชนิดนี้

สำหรับการแสดงโนราในสมัยก่อนและปัจจุบัน มีความแตกต่างกันบ้างตามความเปลี่ยนแปลงของวันเวลา สังคมและความนิยม แต่ยังมีหลายส่วนที่คงรักษาของเก่าเอาไว้ เช่น ท่ารำแบบโบราณ การแต่งกาย การเบิกโรง การโหมโรง ส่วนที่เปลี่ยนไป คือ เครื่องดนตรี จึงเป็นการยืนยันให้เห็นว่ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดงโนรานั้นไม่ได้หยุดนิ่ง มีพัฒนาการในการสร้างสรรค์ให้เหมาะสมกับชุมชน กาลเวลา และสังคมของผู้ปฏิบัติโนราในทุกยุคสมัย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สืบสาน "รำมโนราห์" ตามพระราชกระแสรับสั่งจากในหลวง 

ลมหายใจ “มโนราห์” เมืองตรัง 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง