วันนี้ (18 ธ.ค.2564) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพดาวหางลีโอนาร์ด C/2021 A1 (Leonard) ซึ่งบันทึกเมื่อช่วงหัวค่ำ 17 ธ.ค.นี้ โดยสามารถดูด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า สังเกตได้จนถึงช่วงต้นม.ค.2565
โดยจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้เห็นดาวหางดวงนี้ เพราะเป็นครั้งสุดท้ายที่ดาวหางดวงนี้จะเข้ามาในระบบสุริยะ ก่อนที่จะจากไปโดยไม่กลับมาอีก
ขณะนี้ดาวหาง C/2021 A1 (Leonard) โคจรข้ามจากฝั่งตะวันตกของดวงอาทิตย์ ไปยังฝั่งตะวันออก ทำให้สามารถสังเกตดาวหางดวงนี้ได้ในช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณด้านซ้ายบนของดวงอาทิตย์ที่ลับขอบฟ้าไป และด้วยตำแหน่งของดาวหางที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ฝุ่นละอองของดาวหางจะสะท้อนแสงอาทิตย์มายังผู้สังเกตบนโลกได้มากขึ้น ทำให้ความสว่างสูงขึ้นเล็กน้อย สังเกตได้ง่ายขึ้น คาดอาจมีค่าความสว่างปรากฏถึง 2.6
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้มีแสงสว่างจากดวงจันทร์ข้างขึ้นรบกวน จนกระทั่งวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่ช่วงข้างแรม และยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้าในช่วงหัวค่ำ ทำให้ปราศจากแสงจันทร์รบกวน บวกกับช่วงปลายเดือนธ.ค.นี้ เป็นช่วงฤดูหนาวของไทย หลายพื้นที่มีสภาพอากาศที่ปลอดโปร่ง ไร้ความชื้นในอากาศ จึงเป็นช่วงที่ดีที่สุดที่จะสามารถสังเกตเห็นดาวหางดวงนี้ได้ พร้อมกับการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่
ชมดาวหาง "ลีโอนาร์ด"ของขวัญส่งท้ายปี
ทั้งนี้เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แนะนำให้ชมผ่านกล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องสองตา และควรรอให้ฟ้าเริ่มมืดเสียก่อน เนื่องจากดาวหางนั้นอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ แสงจากดวงอาทิตย์ในยามเย็นอาจจะรบกวนการสังเกตดาวหาง
ในขณะเดียวกันยิ่งดึกดาวหางก็จะยิ่งลดต่ำลงใกล้ขอบฟ้า ก่อนที่จะตกลับขอบฟ้าตามดวงอาทิตย์ไปด้วย เวลาที่เหมาะที่สุดในการสังเกตการณ์ดาวหางดวงนี้จึงเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หลังดวงอาทิตย์ตก ประมาณหนึ่งทุ่ม
สำหรับดาวหาง C/2021 A1 (Leonard) ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 3 ม.ค.2564 โดย G. J. Leonard จาก Mount Lemmon Observatory และตลอดทั้งปีดาวหางก็ได้ค่อยๆ เคลื่อนที่ใกล้เข้ามายังระบบสุริยะชั้นใน แสงจากดวงอาทิตย์ค่อยๆ ทำให้แก๊สในดาวหางระเหิดออก ฟุ้งกระจายไปทั่วอวกาศโดยรอบ ปรากฏเป็นดาวหางที่มีหางยาวออกมา ได้โคจรเข้าใกล้โลกที่สุดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ที่ระยะห่าง 34.9 ล้านกิโลเมตร และกำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 3 มกราคม 2565 ก่อนที่จะถูกเหวี่ยงออกไปจากระบบสุริยะ จึงเป็นโอกาสเดียวในชีวิตที่เราจะได้ชมดาวหางดวงนี้ ถือเป็นของขวัญส่งท้ายปี 2564 ที่สุดแสนมหัศจรรย์