จากกระแสข่าวรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ขนผักมาขายในประเทศไทย ทำให้ทั้งผู้ค้าผัก และเกษตรกรต่างวิตกว่า จะทำให้ราคาผักหลายชนิดที่ส่งมาจากจีน จะมาตีตลาดในประเทศไทย ทำให้ราคาผักในประเทศไทยตกลงไป
วันนี้ (20 ธ.ค.2564) นายต่อ สมาชิกกลุ่มผู้ปลูกผักกาดขาวปลี ซึ่งมีสวนผักกาดขาว ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยกับไทยพีเอสออนไลน์ ถึงสถานการณ์การซื้อขายผักกาดขาวในปัจจุบันว่า ปัจจุบันเกษตรกรที่ปลูกผักกาดขาวในกลุ่มภาคเหนือ จะอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน สำหรับของตนและลูกชายปลูก 7 ไร่เศษ วันนี้มีผลผลิตที่รอขายอยู่ 35,000 กิโลกรัม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ราคาซื้อขายในแต่ละวัน ใครเป็นคนกำหนด นายต่อบอกว่า ที่ผ่านมา เราจะตลงกันว่า การซื้อขายหน้าสวน นั่นคือคนซื้อจะมารับเอง เราจะลดให้ 5 เปอร์เซนต์ของ 1,000 กิโลกรัม หรือให้ฟรีเลย 50 กิโลกรัม เพื่อเป็นคนขนส่งกับคนซื้อ
ก่อนหน้านี้ เราไม่มีตลาด แต่เรามีจุดรับซื้อตรงกลางของเกษตรกรหลายคน คือที่บ้านแม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งตรงนั้นเราต้องจ่ายเงินให้พ่อค้าคนกลาง เป็นค่าล้ง ค่าเปอร์เซนต์ให้เขา 20 สตางค์ ทำให้เราต้องเสียเงินไปเปล่าๆ จำนวนมาก จึงมาคุยกันว่าเรามาตั้งกลุ่มกันเองดีกว่า และกำหนดราคาขายราคาเดียวคือ 5 บาท โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
ราคาสูงสุดที่เคยปลูกมา กะหล่ำปลี ก.ก.ละ 18-19 บาท ราคาต่ำสุด 2 บาท ส่วนผักกาดขาว ราคาสูงสุด ก.ก.ละ 15-16 บาท ต่ำสุด 2 บาท ถ้าราคาต่ำกว่านี้ก็ขายไม่ได้แล้ว
เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นนอกจากค่าต้นกล้า ค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ ยังต้องจ้างคนตัดอีก ซึ่งปีนี้ขึ้นจากวันละ 200 บาท เป็น 250 บาท ค่าคนแบกขึ้นรถกระบะ จาก 1,000 บาท เป็น 1,500 บาท
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในแต่ละรอบการปลูกต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ นายต่อกล่าวว่า ผักกาดขาว ใช้เวลาเพาะกล้า 30 วัน ย้ายกล้าลงแปลงปลูกอีก 45 วัน ส่วนกะหล่ำปลี ใช้เวลาเพาะกล้า 30 วัน ย้ายกล้าลงแปลงปลูก 60 วัน
เมื่อถามว่า หลังจากครบกำหนดแล้ว ผักเหล่านี้จะมีอายุได้อีกกี่วันจึงจะเน่าเสีย นายต่อบอกว่า อยู่ได้อีก 20 วัน ถ้าไม่มีใครซื้อก็จะเน่าเสียและต้องทิ้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากเกษตรกรในภาคเหนือแล้ว มีเกษตรกลุ่มอื่นอีกหรือไม่ที่ปลูกผักกกาดขาวเหมือนกัน นายต่อกล่าวว่า มีที่ จ.แพร่ ภูทับเบิก เขาค้อ กลุ่มนี้อยู่ใกล้ตลาดหล่มสัก จะมีคนรับไปส่งต่อที่ตลาดสี่มุมเมือง แต่ผักของเราไปไม่ถึง
เมื่อถามว่าทุกวันนี้ผักจากจีนกระทบกับเกษตรกรไทยที่ปลูกผักเหมือนกันไหม นายต่อกล่าวว่า กระทบมาก ทำให้ราคาตกลงมาอย่างหนัก เช่น กะหล่ำปลี ราคาจาก ก.ก.ละ 20 บาท เหลือ ก.ก.ละ 8-9 บาท / ผักกาดขาวจาก ก.ก.ละ 15-16 บาท เหลือ ก.ก.ละ 5-6 บาท / มะเขือเทศ เฉพาะเดือนพ.ย.จาก ก.ก.ละ 50 บาท เหลือ ก.ก.ละ 20 บาท และผักก็ไม่ได้มาจากจีนทางเดียว แต่มาจากเมียนมาด้วย ที่เข้ามาตีตลาดไทย
เมื่อถามว่า รู้หรือเปล่าว่าทำไมผักจากจีนจึงราคาถูกกว่าบ้านเรา เกษตรกรปลูกผักกาดขาวกล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกัน เราเคยสงสัยกันมาตลอดว่า ผักจากสวนของเรา ถ้าตัดเสร็จออกจากสวนเราตอนเที่ยงวัน ก็ไปถึงตลาดสี่มุมเมืองตอนเที่ยงคืน แต่ผักจากจีน กว่าจะแพค จนส่งลงเรือมา ขนจากชายแดนมาถึงตลาดสี่มุมเมือง แต่ยังสดอยู่เลย เขาทำยังไง แถมยังขายราคาถูกกว่าเราอีก”
ผู้สื่อข่าวถามว่า อยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐเข้ามาช่วยอะไรบ้าง นายต่อกล่าวว่า ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีใครมาช่วย ชาวสวนก็ดูแลกันเองมาตลอด ตอนนี้ราคาปุ๋ยก็แพงขึ้นมาก จากราคากระสอบละ 600 บาท มาเป็น 1,200 บาท ราคาน้ำมันก็แพงขึ้น ทุกอย่างขึ้นราคาทั้งนั้น แต่ผักยังราคาเท่าเดิม