วันนี้ (22 ธ.ค.2564) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการส่วนต่อขยาย รถไฟชานเมืองสายสีแดงว่า ขณะนี้ผลการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย
ช่วงที่ 1 บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และ ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง
ช่วงที่ 2 รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ช่วงที่ 3 ตลิ่งชัน-ศาลายา
ช่วงที่ 4 ตลิ่งชัน-ศิริราช
หลังจากนี้จะเสนอให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนพฤษภาคมปีหน้า หากเห็นชอบ คาดว่าจะสามารถเปิดสรรหาเอกชนเพื่อเข้ามาร่วมลงทุน ในรูปแบบเอกชนลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ทั้ง 4 เส้นทางได้ในช่วงปลายปีหน้า
สำหรับรูปแบบการลงทุนฯ จะเสนอ 3 แนวทางให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ ครม.พิจารณา
แต่ รฟท. มองว่าแนวโน้มที่คุ้มค่าการลงทุน และเหมาะสมที่สุด น่าจะเป็นรูปแบบ รัฐเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ระบบรถไฟฟ้า และการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า ส่วนเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการเดินรถและซ่อมบำรุง ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง
คาดการณ์ว่า เมื่อเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2571 จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 4 แสนคนต่อวัน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หลังจากเปิดให้บริการเป็นระยะเวลา 50 ปี คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง 1.3 ล้านคนต่อวัน
อ่านข่าวอื่น ๆ
รู้แล้ว! ทำไม "สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง" ไกลชุมชน
หาคำตอบ สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงไกลชุมชน ?