ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สภา ม.รามฯ ระบุถอดถอน "สืบพงษ์" พ้นอธิการบดี เหตุบกพร่องร้ายแรง

สังคม
28 ธ.ค. 64
12:29
550
Logo Thai PBS
สภา ม.รามฯ ระบุถอดถอน "สืบพงษ์" พ้นอธิการบดี เหตุบกพร่องร้ายแรง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ชี้แจงกรณีถอดถอน ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ พ้นจากตำแหน่งอธิการบดี เนื่องจากมีความบกพร่องร้ายแรง ซึ่งมีมติ 16-0 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง

วันนี้ (28 ธ.ค.2564) สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง แถลงชี้แจงกรณีการถอดถอน ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารคณะบริหารธุรกิจ (อาคารใหม่) มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยระบุว่า การประชุมมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 15/2564 ซึ่งมีวาระการพิจารณาข้อชี้แจงของ ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อดีตอธิการบดี เป็นวาระที่สืบเนื่องมาจากการประชุมครั้งที่ 14/2564 เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2564

ในการประชุมครั้งนั้นที่ประชุมได้สอบถาม ผศ.สืบพงษ์ ในฐานะอธิการบดี เกี่ยวกับปัญหาการบริหารงานใน 4 ประเด็น คือ 1.ประเด็นการฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 ตามกฎหมายที่มีการแจ้งเลื่อนการประชุมสภามหาวิทยาลัย ลงวันที่ 23 พ.ย. และวันที่ 9 ธ.ค.2564

2.เรื่องการหารือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เกี่ยวกับเอกสารที่ได้จัดส่งไปให้กระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดยที่ไม่ได้มีการหารือกับสภามหาวิทยาลัยก่อน, 3.การแต่งตั้งอาจารย์ในระหว่างการสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน ให้เป็นผู้บริหาร และ 4. ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย

โดยที่ประชุมครั้งที่ 14/2564 ได้มีมติให้ ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีในขณะนั้น ทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ชี้แจงด้วยวาจาเพิ่มเติมในการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งถัดไป ซึ่งขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมว่า ผศ.สืบพงษ์ ได้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร ตามเอกสารที่ส่งให้สภามหาวิทยาลัยได้รับก่อนวาระการพิจารณาคำชี้แจง

ซึ่งทางกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้สอบถามว่าเหตุใด ผส.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีจึงฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย พ.ศ.2541 ด้วยการสั่งเลื่อนการประชุม 2 ครั้งติดต่อกัน ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจในการสั่งเลื่อน

ซึ่ง ผศ.สืบพงษ์ ได้ขอใช้สิทธิชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่ได้เสนอต่อที่ประชุมเฉพาะ เมื่อชี้แจงเรียบร้อยแล้ว ที่ประชุมได้มีมติให้ ผศ.สืบพงษ์ ออกจากห้องประชุม เพื่อที่ที่ประชุมจะได้พิจารณาคำชี้แจงอย่างรอบคอบ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พบว่า ผศ.สืบพงษ์ เคยดำรงตำแหน่งในกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาถึง 2 วาระด้วยกัน ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าไม่มีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย พ.ศ.2541 จึงฟังไม่ขึ้น

การที่ ผศ.สืบพงษ์ ได้เลื่อนประชุมสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้มีการเลือกตัวนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามที่กรรมการสภามหาวิทยาลัย 8 คน ได้เข้าชื่อกันให้ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย จึงเป็นการขัดต่อข้อบังคับสภามหาวิทยาลัย

นอกจากนั้น การที่ ศ.สมบูรณ์ สุขสำราญ ผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 13 ซึ่งทำหน้าที่แทนนายสงวน ตียะไพบูลย์สิน อุปนายกสภาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยในขณะนั้น ซึ่งได้ลาประชุม เนื่องจากป่วย เข้ารับการตรวจรักษาพยาบาลทางการแพทย์ ได้เรียกประชุม ครั้งที่ 14 ในวันที่ 13 ธ.ค.2564

ปรากฏว่า ผศ.ธีรนิติ์ เทพสุเมธานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการสภามหาวิทยาลัย ได้ทำหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัย โดยกล่าวอ้างว่าได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยให้เลื่อนการประชุม ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจในการเลื่อนการประชุมแต่อย่างใด

และข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัย อันประกอบไปด้วย ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีในขณะนั้น และผู้บริหารในขณะนั้น 4 คน ซึ่งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 14 แต่อย่างใด

ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ได้พิจารณาแล้ว เห็นพ้องต้องกันว่า การที่ฝ่ายบริหารพยายามเลื่อนการประชุมสภามหาวิทยาลัย และไม่เข้าร่วมการประชุมสภามหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่สภามหาวิทยาลัยต้องการจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างความเสียหายให้กับมหาวิทยาลัย มิให้ลุกลามบานปลายต่อไป

ซึ่ง ผศ.สืบพงษ์ อธิการบดีในขณะนั้นไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา โดยอ้างเหตุที่ฟังไม่ขึ้่นว่าต้องการรอคำตอบเกี่ยวกับการหารือกับกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เกี่ยวกับคำตอบของสภามหาวิทยาลัย ซึ่ง ผศ.สืบพงษ์ เคยดำรงแหน่งสภามหาวิทยาลัย 2 วาระ ย่อมตระหนักดีว่าสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับองค์ประกอบที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

เนื่องจากในสมัยที่ ผศ.สืบพงษ์ เคยเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็เคยมีเหตุการณ์ที่ไม่มีในสภามหาวิทยาลัยถึง 2 ครั้งด้วยกัน และด้วยทราบถึงระเบียบของสภามหาวิทยาลัยอย่างดีแล้ว นอกจากนั้น การขอเลื่อนการประชุมสภามหาวิทยาลัยโดยไม่มีกำหนดว่าจะประชุมเมื่อไหร่ ย่อมจะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อกิจการของมหาวิทยาลัยทุกด้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 1. ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจำนวนหลายพันคนที่กำลังรอใบรับรองจากสภามหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสมัครงาน สมัครเรียน ตลอดจนการไปศึกษาต่อต่างประเทศ บัณฑิตบางรายสมัครเข้าทำงานได้แล้ว แต่ไม่สามารถนำใบรับรองจากสภามหาวิทยาลัยได้ เนื่องจากการเลื่อนการประชุมไปอย่างไม่มีกำหนดของ ผศ.สืบพงษ์ ทั้งนี้ บัณฑิตบางรายประสบปัญหาถูกปรับเพื่อชดเชย เนื่องจากไม่มีเอกสารมาแสดงการสำเร็จการศึกษาภายในกำหนดเวลา

นอกจากนั้น ข้อ 2. มหาวิทยาลัยไม่สามารถให้การรับรองหลักสูตรต่างๆ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ให้แก้ไขปรับปรุงเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ทันกับการประกาศใช้ในปีถัดไปได้ ส่วนอาจารย์ที่ผ่านการพิจารณาและอนุมัติของคณะกรรมการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ผศ., รศ. หรือ ศ.ก็ไม่สามารถนำเข้าสู่การอนุมัติของสภามหาวิทยาลัยได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้น ความบกพร่องร้ายแรงของ ผศ.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่นอกจากจะไม่สนใจในกิจการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการขาดวิจารณญาณ และคุณธรรมที่เหมาะสม สำหรับการดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่อไป

จากเหตุผลข้างต้น สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงมีมติให้ถอดถอน ผส.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ด้วยคะแนนเสียง 16 เสียง คะแนนที่ไม่ถอดถอนไม่มี หรือ 0 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง

สำหรับประเด็นที่ ผศ.สืบพงษ์ ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการปรับปรุงที่ดิน 2 แปลงที่มีความสำคัญ ก่อนจะสมัครเข้ารับการสรรหาอธิการบดีนั้น ทางสภามหาวิทยาลัยได้รับเรื่องร้องเรียนในเดือน ส.ค.2564 ซึ่งสภามหาวิทยาลัยจะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไป ซึ่งทางสภามหาวิทยาลัยได้มีความคืบหน้าในการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เรียบร้อยแล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อธิการบดี ม.รามคำแหง ถามกลับมติถอดถอนของสภาฯ เห็นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง