วันนี้ (28 ธ.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีชาวโซเชียลโพสต์ข้อความปรากฏการณ์ชาวจังหวัดจันทบุรี มีอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ปวดท้อง พร้อมกันเป็นจำนวนมาก โดยแต่ละคนได้โพสต์ข้อความถามไถ่กันในกลุ่มเฟซบุ๊กจังหวัดจันทบุรีว่า ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา มีคนเกิดอาการดังกล่าวพร้อมกันจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชาว จ.จันทบุรี หรือนักท่องเที่ยวที่ไปท่องเที่ยวก็พบเหตุการณ์นี้เช่นกัน
ล่าสุด เพจ ข่าวจันทบุรี เปิดเผยว่า 18.45 น. นพ.อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบอาการท้องเสียในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน จึงสอบสวนไม่ได้ว่า จุดกำเนิดอาการคล้ายอาหารเป็นพิษเริ่มที่จุดใด และใครเป็นคนแรก
เบื้องต้น ตรวจสอบพบว่า มีอาการคล้ายอาการเป็นพิษหลายคน แต่อาการไม่หนัก ลักษณะของการถ่ายท้อง สันนิษฐานทางการแพทย์ในขณะนี้ มี 2 สาเหตุ คือ สภาพอากาศใน จ.จันทบุรี เปลี่ยนแปลงบ่อยในระยะนี้ และขณะนี้เปิดประเทศเริ่มมีการขายอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่า การบริโภคอาหารที่หลากหลายอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคล้ายอาหารเป็นพิษ เพราะสภาพอากาศมีผลต่ออาหารด้วย
ทั้งนี้ นพ.อภิรักษ์ ระบุว่า ในช่วงนี้แนะนำให้ประชาชนบริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่เท่านั้น ไม่ควรรับประทานอาหารที่ทำทิ้งไว้นาน เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวนในขณะนี้ ส่งผลกับอาหารอย่างมาก และหากอาหารเป็นพิษอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์ไม่แนะนำให้ซื้อยารับประทานเอง
วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการท้องเสีย
ขณะที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลในการดูแลตัวเองเบื้องต้น เมื่อเกิดอาการท้องเสียว่า ในผู้ใหญ่ที่ท้องเสียเฉียบพลัน มักมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด หรือมีเชื้อโรคเจือปน ทำให้เกิดการติดเชื้อ หรือในบางราย การรับประทานอาหารที่มีรสจัดก็อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน
ถ้าอาการท้องเสียมีอาการไม่มาก แนะนำให้ถ่ายอุจจาระออกมาจนหมด หลีกเลี่ยงการรับประทานยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้ของเสียหรือเชื้อโรคจะยังคงสะสมอยู่ในลำไส้ และระหว่างที่มีอาการ แนะนำให้หยุดเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีผลิตภัณฑ์นมเป็นส่วนประกอบ งดอาหารรสจัดและของหมักดอง รับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊ก หากมีอาการถ่ายบ่อยจนร่างกายอ่อนเพลีย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย
นอกจากนี้ การลดขนาดมื้ออาหารลงในขณะท้องเสีย ก็เป็นการรักษาวิธีหนึ่งซึ่งไม่มีผลเสีย หากร่างกายแข็งแรงดี เพราะจะเป็นการช่วยให้ลำไส้พักและช่วยให้การทำงานกลับเป็นปกติเร็วขึ้น ตรงกันข้ามหากรับประทานเข้าไปมาก อาหารเหล่านั้นจะถูกดูดซึมเข้าร่างกายได้น้อยหรือไม่ดูดซึมเลย ทำให้ยิ่งรับประทานมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เสียน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายมากขึ้นเท่านั้น และจะได้ประโยชน์จากอาหารที่รับประทานเข้าไปน้อย
สุดท้าย ผู้ที่มีอาการต่อไปนี้ ต้องรีบมาพบแพทย์ทันที เช่น อุจจาระมีมูกปน มีกลิ่นเหม็นผิดปกติคล้ายกุ้งเน่า คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส อ่อนเพลียมาก หรือมีอาการนานกว่า 48 ชั่วโมง และผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และผู้สูงอายุ ไม่ควรรักษาเอง เพราะถ้าอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้