วันที่ 4 ม.ค.2565 เพจเฟซบุ๊ก เส้นด้าย - Zendai "วันนี้ #เส้นด้ายคอลเซ็นเตอร์ 02-0965000 โทรศัพท์ดังทั้งวัน ก่อนปิดปีใหม่ มีคนขอเราหาเตียงแค่ 2-3 ราย ต่อวัน วันนี้มีคนขอเตียงเรากว่า 30 เตียงต่อวัน"
ขณะที่การตรวจ COVID-19 เชิงรุกในช่วงเช้า ที่แขวงจตุจักร เขตจตุจักร จำนวน 81 คน พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 16 คน (คิดเป็นอัตรา 19.75%) ส่วนในเดือน ก.ค.2564 อัตราพบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยเคยสูงถึง 20% เดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา อัตราเหลือแค่ไม่ถึง 0.3%
เดือนมกราคมเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ยังเหลืออีก 26 วัน เรายังไม่รู้ว่าอัตราการติดเชื้อจะเป็นเท่าไร เราไม่รู้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของเวฟ 5 โอมิครอนหรือไม่
นอกจากนี้ การตรวจเชิงรุกในพื้นที่พญาไท ทางเส้นดาย พบผู้ติดเชื้ออีก 16 คน และเครือข่ายฯ ตรวจพบอีกเกือบ 100 คน พร้อมตั้งคำถามถึงผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มียอด 3,000 คนต่อวัน
วันนี้เป็นวันแรกในรอบสามเดือนที่เบอร์โทรเส้นด้ายมีคนขอเตียงมาเป็นร้อย
กทม.เตรียมพร้อม CI 40 แห่ง
ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากแนวโน้มของสถานการณ์การระบาด COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ในไทย ขณะนี้พบว่ามีแนวโน้มจํานวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่ประชาชนจะมีการจัดงานตามประเพณีท้องถิ่นและทางศาสนา งานเลี้ยงสังสรรค์ รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการรวมกลุ่มบุคคลเป็นจํานวนมาก
กรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมของบุคลากร สำรองเตียงพยาบาล ยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ หากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ นอกจากนี้ ยังได้มีการเตรียมความพร้อมสถานที่รองรับผู้ป่วย ซึ่งในส่วนศักยภาพเตียงโรงพยาบาล มีจำนวนทั้งหมด 25,345 เตียง แบ่งออกเป็น โรงพยาบาลหลัก 2,922 เตียง โรงพยาบาลสนาม 2,898 เตียง และ Hospitel 19,525 เตียง (ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) รวมทั้งเตรียมพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) จำนวน 40 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 5,066 เตียง
ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3 แห่ง จำนวน 772 เตียง มีผู้ครองเตียงจำนวน 50 คน คงเหลือ 5,016 เตียง ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 37 แห่ง อยู่ในสถานะ Standby Mode ซึ่งพร้อมเปิดให้บริการภายใน 24 ชั่วโมง จำนวน 25 แห่ง 3,062 เตียง พร้อมเปิดบริการภายใน 3 วัน จำนวน 12 แห่ง 1,232 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ม.ค. 65)