กรณีพนักงานรักษาความปลอดภัยในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านธนบุรี ก่อเหตุข่มขืนลูกบ้านหญิง และยังหลบหนีการจับกุม โดยล่าสุดตำรวจออกหมายจับแล้ว
วันนี้ (6 ม.ค.2565) ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 5 มี.ค.2559 มีรายละเอียดชัดเจนว่า ใครจะเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) จะต้องไปขึ้นทะเบียน เพื่อขอรับ “ใบอนุญาต” กับทางสถานีตำรวจทั่วประเทศ ให้เรียบร้อยภายใน 60 วัน
ทั้งนี้ พนักงาน รปภ.ทุกคนต้องมีใบอนุญาตและผ่านการอบรม หากพ้นกำหนดจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายฉบับนี้ โดยต้องได้รับโทษ ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้ ว่า
- ผู้ใดทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย โดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
•ผู้ประกอบการผู้ใดประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ - รวมทั้งยังต้องมีระบบการแจ้งเหตุ และแจ้งรายชื่อพนักงาน รปภ. ให้แก่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับทราบ เพื่อสามารถตรวจสอบและติดตามได้สำหรับตัว
หากกางหมวดที่ 3 พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ระบุถึงการทำหน้าที่ พนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต โดยข้อที่สำคัญทั้งในเรื่องคุณสมบัติ และข้อต้องห้าม ตามมาตราต่างๆดังนี้
- มาตรา 33 ผู้ใดประสงค์จะทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต ต้องได้รับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตจากนายทะเบียน การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
- มาตรา 34 ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
ลักษณะต้องห้าม
- เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษหรือเป็นโรคติดต่อที่คณะกรรมการกำหนด
- เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
- เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกสำหรับความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หรือความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต และมิใช่ความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา
- เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตมาแล้ว ยังไม่ถึง 2 ปีนับถึงวันยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต
การรับรองสถานฝึกอบรมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงและเมื่อนายทะเบียนกลางได้รับคำขอรับการรับรอง ให้มีหนังสือแจ้งคำสั่งรับรองหรือไม่รับรองไปยังผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกํากับธุรกิจรักษาความปลอดภัย ว่าด้วยกําหนดมาตรฐานหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2560
โดย “หลักสูตร รปภ.” สําหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมง ประกอบด้วย ภาคทฤษฎี 16 ชั่วโมง และ
ภาคปฏิบัติ 24 ชั่วโมง
ใบอนุญาต ภธ.7 ใบเบิกทางทำงาน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์เพ็ญ พนักงานรักษาความปลอดภัยหญิงที่มีอายุงาน 6 ปึ ปัจจุบันเธอประจำการที่หน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง โดยทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยตั้งแต่เวลา 07.00-19.00 น.
เธอเล่าว่า กว่าจะเป็น รปภ.ต้องผ่านการอบรมหลักสูตร 40 ชั่วโมงเข้าอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน จ.นครปฐม เนื่องจากต้องอบรมหลักสูตรความปลอดภัย และการเผชิญเหตุ ซึ่งรปภ.สามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ในกรณีมีการเผชิญเหตุ เช่น เหตุการณ์ทะเลาะวิวาท การช่วยชีวิตคน
เมื่อผ่านการอบรมแล้วจะได้รับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต หรือรภ.7 ควบคู่กับตราตำรวจที่ต้องพกติดตัว หากมีการสุ่มตรวจไม่พบจะถูกตักเตือน ซึ่งใบรับรองมีอายุ 3 ปี
กฎของการเป็นรปภ.คือต้องไม่มีคดีติดตัว ไม่ยุ่งยาเสพติด หากตรวจพบโดยเฉพาะบริษัทใหญ่จะถูกให้ออกภายใน 24 ชั่วโมง และต้องซื่อสัตย์กับอาชีพของตัวเอง
สำหรับการทำงาน รปภ.ส่วนตัวถือว่าเป็นอาชีพสุจริต และใช้ความสามารถในการทำงานเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ หน้าที่รับผิดชอบในการทำงานที่หน่วยราชการ อาจไม่เสี่ยงเท่ากับในโรงงาน หรือคอนโดมิเนียม แต่ทุกคนต้องรับผิดชอบในงานให้ดีที่สุด ซึ่งรู้สึกภูมิใจกับงานที่ทำ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"คดี รปภ." นิติบุคคลคอนโดฯ รุดให้ปากคำตำรวจ