ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เจาะเบื้องหลังปม "คาซัคสถาน" ประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่

ต่างประเทศ
7 ม.ค. 65
12:45
1,018
Logo Thai PBS
เจาะเบื้องหลังปม "คาซัคสถาน" ประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถานการณ์ใน "คาซัคสถาน" เป็นที่สนใจของชาวโลก หลังเกิดการจลาจล การสังหารผู้ประท้วงที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โดยมีชนวนเหตุมาจากปัญหาราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ลามไปถึงการกุมอำนาจของอดีตผู้นำ ยาวนานมาตั้งแต่การล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต

"คาซัคสถาน" เป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่เงียบสงบ มีเทคโนโลยีด้านอวกาศที่ล้ำสมัย แต่สถานะอันไร้ซึ่งสิทธิและเสียงตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้ชาวคาซัคสถานจำนวนมากลุกฮือประท้วงต่อต้านรัฐบาล จนเกิดการปราบปรามอย่างรุนแรง แปรสภาพคาซัคสถานให้ตกอยู่ในวิกฤตและเหตุจลาจลภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน

ขณะที่บ้านพักประธานาธิบดีในนครอัลมาตี มีสภาพเสียหายยับเยิน ไม่ต่างจากอาคารสำนักงานต่างๆ ของภาครัฐที่ถูกจุดไฟเผา มีรายงานผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายสิบคน ทั้งฝั่งประชาชนและเจ้าหน้าที่ความมั่นคง

ผู้ชุมนุมมากกว่า 2,200 คนถูกจับกุม นอกจากนี้เหตุประท้วงยังทำให้นครอัลมาตีต้องปิดสนามบิน เพราะถูกผู้ประท้วงบุกยึด ก่อนทหารจะยึดคืนมาได้สำเร็จ

"คาซัคสถาน" มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ย้อนเหตุประท้วงในเมืองทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งเป็นฐานการผลิตเชื้อเพลิง ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศประชาชนออกมาประท้วงตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา เพราะไม่พอใจที่ราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งๆ ที่คลังสำรองในประเทศยังมีปริมาณมาก

วันที่ 5 ม.ค. เริ่มมีประชาชนในหลายเมืองออกมาร่วมเคลื่อนไหว ครั้งนี้ลามไปถึงนโยบายของรัฐบาลที่กุมอำนาจบริหารประเทศเบ็ดเสร็จ สืบทอดมาตั้งแต่อดีตผู้นำ จนกระทั่งผู้นำคนปัจจุบัน ซึ่งนานนับ 30 ปี


ตั้งแต่พ้นจากการปกครองของอดีตสหภาพโซเวียต คาซัคสถานมีประธานาธิบดีเพียงคนเดียว คือ "นูร์ซัลตาน นาซาร์บาเยฟ" ซึ่งส่งไม้ต่อให้แก่ "กาซีม โจมาร์ท โตคาเยฟ" ในปี 2562 ผ่านการเลือกตั้งที่ประชาชนส่วนมากมองว่า ล็อกตัวหุ่นเชิดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

กระทั่งครั้งนี้ผู้นำที่ดูเหมือนจะกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ กลับเผชิญการลุกฮือของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุด ทำให้คณะรัฐมนตรีลาออกยกชุด จากปกติที่รัฐบาลคาซัคสถานจะไม่ปล่อยให้ผู้เห็นต่างได้แสดงจุดยืนมากนัก

ขณะนี้รัฐบาลสั่งลดราคาเชื้อเพลิง ตั้งกรรมาธิการพิเศษแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นต้นตอของการประท้วง แต่ดูเหมือนว่าจะต้านไม่อยู่ จนโตคาเยฟต้องงัดลูกไม้ใหม่ กล่าวหาว่ามีกลุ่มก่อการร้ายจากต่างประเทศอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุรุนแรงในคาซัคสถาน เพื่อขอความช่วยเหลือจากพันธมิตร

ผู้นำคาซัคสถานขอแรงหนุน CSTO

ปฏิบัติการครั้งนี้ บางคนเรียกว่าเป็นการเปิดตัวกองกำลังครั้งแรกในรอบ 30 ปี ขององค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม หรือ CSTO กลุ่มประเทศพันธมิตร 6 ชาติอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งนำโดยรัสเซีย และมีสมาชิก ได้แก่ อาร์เมเนีย เบลารุส คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และคาซัคสถาน ที่ปกติจะไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของกันและกัน เพราะมีหลักการระบุไว้ว่าจะส่งกองกำลังไปช่วยชาติสมาชิก ต่อเมื่อถูกคุกคามจากภายนอกเท่านั้น

กองกำลังสันติภาพจากทั้งเบลารุสและรัสเซีย ทยอยเดินทางไปถึงตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. โดยคาดว่ากองกำลังจากชาติสมาชิกอื่นๆ จะตามมาสมทบภายหลังอีก นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ CSTO ส่งกองกำลังไปแทรกแซงปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิก แต่ครั้งนี้ไปช่วยได้เพราะผู้นำคาซัคสถานอ้างว่าถูกต่างชาติคุกคาม

การขอแรงหนุนจาก CSTO ช่วยให้ผู้นำคาซัคสถานครองเก้าอี้ต่อไปได้ แต่ถือเป็นรอยด่างที่ประชาชนต่อต้านและจดจำ อาจยิ่งทำให้การอยู่ในอำนาจของผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งแบบไม่ค่อยโปร่งใสขาดความชอบธรรม ซึ่งแกนนำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคาซัคสถานถึงกับบอกว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของการกุมอำนาจในประเทศ เพราะประชาชนเรียนรู้แล้วว่าเมื่อพวกเขาร่วมมือกันแสดงพลัง ก็จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้

อ่านข่าวอื่นๆ

"รัสเซีย" ส่งทหารช่วยคุมเหตุรุนแรงในคาซัคสถาน

"ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้" คาดเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธครั้งแรกของปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง