วันนี้ (10 ม.ค.2565) เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่สืบสวนโรคระบาดหมู พร้อมเก็บตัวอย่างเลือดหมู ในพื้นที่ จ.ราชบุรีและนครปฐม รวม 10 ฟาร์มเลี้ยง 305 ตัวอย่าง รวมทั้งเก็บตัวอย่างจากโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง จำนวน 5 ตัวอย่าง
น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมฯ ได้ส่งตัวอย่างเลือดหมูให้สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ตรวจสอบหาเชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาหมู หรือ ASF คาดว่าจะทราบผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการอีกประมาณ 2 วัน
หากพบว่าเป็นเชื้อดังกล่าวจริง กรมฯ จะประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ ปี 2558 และจะรายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ตามขั้นตอนต่อไป
นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติงบประมาณจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู กรณีที่ต้องทำลายหมูเพิ่มเติมอีก 500 ล้านบาท จากปัจจุบันมีงบกว่า 1,142 ล้านบาท
พร้อมยืนยันว่า กรมฯ ไม่ได้ปกปิดข้อมูลการระบาด แต่การดำเนินการต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยเชื่อว่าปัญหาโรคระบาดหมูที่เกิดขึ้น มาจากเกษตรกรบางกลุ่ม ลักลอบนำเข้าหมูจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือนำหมูติดเชื้อโรคเข้าโรงฆ่าสัตว์ ส่งผลกระทบต่อการแพร่การะจายโรค จึงเตรียมประชุมหารือกับสมาคมผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางควบคุมการระบาดและฟื้นฟูฟาร์มเลี้ยง
ทั้งนี้ กรมฯ จะร่วมมือกับภาคีคณบดีคณะสัตวแพทย์ พัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ASF รวมทั้งใช้ระบบติดตามเคลื่อนย้ายหมูแบบเรียลไทม์ มาบริหารจัดการให้สอดคล้องกับความต้องการแต่ละพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาราคาหมูแพง
ผศ.น.สพ.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจพบตัวอย่างหมูติดเชื้อ ASF ตั้งแต่ช่วงกลางปีถึงปลายปี 2564 แต่ไม่ได้มีหน้าที่รายงานต่อทางการ และมีความเป็นไปได้ว่า เกษตรกรที่นำตัวอย่างไปตรวจสอบพบเชื้อแล้ว ไม่รายงานต่อทางการ เพราะเกรงว่าจะกระทบธุรกิจ จนปัญหาบานปลาย
ภาคการศึกษาไม่ได้มีหน้าที่ประกาศโรค เราประชุมกันว่าการตรวจสุกรดังกล่าว ควรนำเสนอให้แกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ประเมินว่า การระบาดของโรคจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่ออุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ของประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท