ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปากคำ! คนเลี้ยงหมูชิงขายทิ้งช่วงโรคระบาด ASF

เศรษฐกิจ
11 ม.ค. 65
13:00
867
Logo Thai PBS
ปากคำ! คนเลี้ยงหมูชิงขายทิ้งช่วงโรคระบาด ASF
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ฟังปากคำ! คนเลี้ยงหมูภาคอีสาน ยอมรับชิงขายหมูป่วย ช่วงโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) กิโลกรัมละ 5-10 บาท ให้กับผู้รับซื้อที่อาจนำไปชำแหละขายต่อในห้องเย็น กังวลเป็นต้นตอแพร่เชื้อกลับสู่ชุมชน

วันนี้ (11 ม.ค.2565) ไทยพีบีเอส ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการในภาคอีสาน ที่อ้างถึงคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะสร้างเอกสารทางราชการเป็นเท็จ เอื้อให้เกิดการเคลื่อนย้ายขายลูกหมู จนทำให้เชื้อที่เชื่อว่าเป็น ASF ระบาดข้ามภูมิภาค มาทำลายหมูในอีสาน ทั้งที่ผ่านมา สมาคมหมูภาคอีสาน พยายามสกัดกั้นโรคที่อาจข้ามพรมแดนเข้ามา

ไทยพีบีเอส ได้ข้อมูลจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูภาคอีสาน อ้างว่าช่วงต้นปี 2564 พวกเขาถูกบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ใน จ.ร้อยเอ็ด หลอกขายลูกหมูในราคาถูก แต่เมื่อเลี้ยงได้ไม่กี่วันก็ทยอยตายจนหมด มีคนหลงเชื่ออย่างน้อย 25 คน สูญเงินรวมกันกว่า 10 ล้านบาท

เมื่อตรวจสอบพบว่าบริษัทถูกปิดไปแล้ว พบเพียงเอกสารร้องเรียน และหมายศาล ที่ถูกฟ้องในข้อหาผิดสัญญาซื้อขาย และเรียกค่าเสียหาย อ้างว่า บริษัทแห่งนี้ได้นำลูกหมูป่วยมาขาย และลูกหมูแพร่เชื้อให้หมูในฟาร์มตายไปกว่า 90 ตัว และได้เรียกร้องค่าเสียหายรวมกว่า 1 ล้านบาท



หนึ่งในผู้เสียหายที่อ้างว่าถูกหลอกซื้อหมูป่วย ให้ข้อมูลอ้างว่า เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าทำลายหมูที่บริษัทนี้ส่งให้ลูกค้าทั้งหมด รวมทั้งหมูในคอก โดยระบุว่าติดเชื้อ PRRS ซึ่งรุนแรงน้อยกว่าเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ ASF ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่าเอกสารสำคัญ ที่นำมาอ้างเพื่อขนย้าย และจำหน่ายลูกหมูเป็นเท็จ จนนำมาสู่โรคระบาดข้ามภูมิภาคหรือไม่
 
เอกสารเหล่านี้ อ้างถึงการขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ตามกฎหมาย ลงลายมือชื่อปศุสัตว์อำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันออก  ยืนยันการขนย้าย โดยผ่านการตรวจของด่านกักกันสัตว์แห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ซึ่งเชื่อมต่อกับภาคอีสาน และมีผลการตรวจโรค ยืนยันว่า เป็นปกติ โดยให้ผลลบต่อโรค ASF

 

แต่ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ การระบุการตรวจรับสัตว์หรือซากสัตว์ปลายทาง ที่ระบุว่าเป็นสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองมุกดาหาร แต่ผู้เสียหายอ้างว่า หมูถูกส่งลงระหว่างทางที่ จ.ร้อยเอ็ด

แม้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด ยืนยันว่าได้ดำเนินคดีบริษัทแห่งนี้ ฐานลักลอบจำหน่ายอาหารสัตว์และพันธุ์สัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ในสภาพความเป็นจริง ก็คือ หมูติดโรค ไม่ได้หายไปไหน ตัวที่ตาย อาจจะถูกฝัง แต่ที่กำลังป่วย หรืออยู่ร่วมกับหมูป่วย มันถูกขายต่อ

หมูสีเทา ธุรกิจเนื้อหมูเสี่ยงโรคระบาด

เกษตรกรในจังหวัดร้อยเอ็ด บอกว่า ทันทีที่รู้ว่า หมูเริ่มป่วย จะต้องรีบระบายหมูออก เรียกกันว่า "หมูสีเทา"จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีรถขนย้ายขนาดใหญ่ มาตระเวนหาหมูสีเทา ตีราคาขายกันถูกๆ

หากเป็นแม่หมูปลดระวาง จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 5-10 บาท หากเป็นหมูอื่นๆ จะอยู่ที่ 10-30 บาท ผู้ที่มารับซื้อ ซึ่งอ้างว่ามาจากจ.นครราชสีมา จึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยออกนอกฟาร์ม เสี่ยงแพร่กระจายเชื้อโรค

มีข้อมูลว่าโรงเชือดที่นำหมูป่วยไปชำแหละ และนำเนื้อเข้าห้องเย็น จะทยอยนำหมูแช่แข็งออกมาขาย ความเสี่ยงก็คือ หมูพวกนี้อาจจะกลับมาสู่ชุมชน ผ่านมาทางรถเร่ ที่ไม่ทราบที่มา คนกินอาจจะไม่ติดเชื้อ แต่ถ้าไปสัมผัสคอก วงจรการระบาดก็จะยังคงอยู่

เฉพาะ จ.ร้อยเอ็ด เกษตรกรรายย่อยที่มีอยู่ราวๆ 5,000 คน เลี้ยงกันไว้กว่า 12,000 ตัว ขณะนี้หมู ตายไปแล้วกว่า 70%  ถ้าจะให้กลับมาเลี้ยงใหม่ บางส่วนก็สนใจ เพียงแต่เขาขอให้ปศุสัตว์ ต้องดูแลใกล้ชิด เพราะ ASF อยู่ในคอกได้เป็นปีๆ ถ้าติดในเนื้อหมูชำแหละแช่แข็ง อยู่ได้นานนับ 10 ปี พวกเขายังคงกลัวว่า การกลับมา ก็จะเสียหาย เป็นหนี้สินหนักกว่าเดิม

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง