สถานการณ์หมูแพงและโรคระบาดในหมู ในมุมของพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องใช้หมูเป็นส่วนประกอบ ส่วนใหญ่ไม่กังวลกับโรคระบาดในหมูเท่ากับราคาที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ราคาหมูหน้าฟาร์ม ก็ปรับขึ้นอีกกิโลกรัมละ 6 บาท ซึ่งขณะนี้มี 2 ทางเลือกคือหยุดขาย หรือปรับราคาเพิ่มหรือลดปริมาณหมูให้น้อยลง แต่ทุกทางก็มีผลกระทบเกิดขึ้น
หลังจากกรมปศุสัตว์ ยืนยันพบโรค ASF จำนวน 1 ใน 309 ตัวอย่างที่เก็บจากฟาร์มและโรงฆ่าสัตว์ในจังหวัดที่มีการเลี้ยงสุกร โดยตรวจพบโรค ASF จากพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์ใน จ.นครปฐม ไต้หวันก็ออกคำเตือนห้ามลักลอบนำเข้าหมูและผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูของไทย เข้ามาในไต้หวัน หากฝ่าฝืนถูกปรับอย่างน้อย 240,000 บาท
วันนี้ (12 ม.ค.2565) นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยอมรับกรณีไต้หวัน เป็นนโยบายป้องกันโรคเข้าประเทศ จนกว่าไทยจะมีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจน ประเมินว่ากระทบระยะสั้น เพราะไทยยังจำกัดการส่งออกในส่วนของหมูสด แต่อาหารแปรรูปยังส่งออกได้ ซึ่งต้องเร่งแก้ปัญหาไม่ให้กระทบความเชื่อมั่น ซึ่งมูลค่าส่งออกสุกรสดมีชีวิต ปี 2564 มีมูลค่า 7,187 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 50 และสุกรสดแช่แข็ง มูลค่า 1,657 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 45
น.ส.ธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) คาดว่าผู้ประกอบการที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานสูง จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ โดยส่วนแบ่งการตลาดสุกรในประเทศ ประกอบด้วยเกษตรกรรายย่อย ร้อยละ 30 ฟาร์มขนาดใหญ่ ร้อยละ 70
ขณะที่ส่วนแบ่งรายใหญ่ 3 บริษัทสูงสุด ประกอบด้วย ซีพีเอฟร้อยละ 20-25 ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ปร้อยละ 5-6 เครือเบทาโกร และอื่น ๆ ประมาณ ร้อยละ40
ช่วง 6 เดือนหลังจากนี้ แนวโน้มของผลประกอบการของผู้ประกอบการรายใหญ่จะดีขึ้น ส่วนแบ่งจะเพิ่มขึ้น เพราะยังมีผลผลิตออกสู่ตลาด หลังจากนี้ต้องดูมาตรการรัฐและการปรับตัวของผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก ถ้าสามารถปรับตัวได้ สัดส่วนก็ไม่เปลี่ยนแปลงในระยะยาว
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าราคาหมูยังคงแพงต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน
"หมูแพง" ดันราคาอาหารของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 8-10%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2565 ราคาเนื้อหมูจะยังยืนสูงและอาจปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีนและช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐมีส่วนช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้บ้าง แต่คงต้องรอจนกว่าผลผลิตหมูรอบใหม่ จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาเนื้อสุกรจึงจะย่อตัวลง
ทั้งนี้ คาดว่า ราคาเนื้อสุกรเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2565 จะอยู่ในกรอบ 190-220 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นราว 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และอาจผลักดันให้ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับสูงขึ้นตาม
นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารอื่น ๆ เช่น ผัก น้ำมันพืช ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการขายปลีก โดยเฉพาะรายย่อย ร้านอาหาร ตลอดจนผู้บริโภคที่จะมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้น 8-10% ในขณะที่ภาวะที่ค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ค่าเดินทาง ก็เริ่มมีสัญญาณปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไต้หวัน "ห้ามนำเข้าหมู" จากไทย ฝ่าฝืนปรับเงินกว่า 2 แสน
พบ ASF ในพื้นที่นครปฐม-ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์
ครม.ไฟเขียว 574 ล้าน ชดเชยโรค ASF ทำลายหมูแล้ว 1.5 แสนตัว