ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อย.แจง ญี่ปุ่นเรียกคืน "มันฝรั่ง" ผลิตส่งออก ไม่วางจำหน่ายในไทย

สังคม
28 ม.ค. 65
18:24
874
Logo Thai PBS
อย.แจง ญี่ปุ่นเรียกคืน "มันฝรั่ง" ผลิตส่งออก ไม่วางจำหน่ายในไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อย.แจงญี่ปุ่นเรียกคืนมันฝรั่งทอดจากไทย หลังพบสารปนเปื้อน ยันไทยผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น ไม่มีวางจำหน่ายในประเทศ อย.ได้สุ่มตัวอย่างมันฝรั่งทอดกรอบในประเทศเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ พร้อมประสาน สสจ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจสอบสถานที่ผลิต

กรณีบริษัทญี่ปุ่นเรียกคืนมันฝรั่งทอดที่ส่งจากไทย หลังจากตรวจพบสารไกลโคแอลคาลอยด์สูงกว่าปกติ วันนี้ (28 ม.ค.2565) นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้ผลิตแจ้งว่าผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดดังกล่าว ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น ไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย แต่อย.สุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดกรอบที่จำหน่ายในประเทศส่งตรวจวิเคราะห์ พร้อมทั้งประสาน สสจ.พระนครศรีอยุธยา ตรวจสอบสถานที่ผลิต

สำหรับสารไกลโคแอลคาลอยด์ (glycoalkaloids) เป็นกลุ่มของสารพิษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในหัวมันฝรั่ง จะพบสารกลุ่มไกลโคแอลคาลอยด์ ชนิดโซลานีน และชาโคนีนบริเวณเปลือกผิว ตา บริเวณที่มีต้นอ่อนงอก บริเวณที่มีรอยช้ำ หรือเป็นรอยแผลและส่วนที่มีสีเขียวมากกว่าส่วนเนื้อผลมันฝรั่ง

ทั่วไปพบประมาณ 10–150 มก.ของน้ำหนักผลสด การได้รับสารไกลโคแอลคาลอยด์มากกว่า 200 มก.ต่อ กก.น้ำหนักผลสด ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วงและกรณีที่รุนแรง คือจะมีผลกระทบทางระบบประสาท

ทั้งนี้ การปรุงอาหารด้วยความร้อน เช่น การอบ ต้ม ทอด ไม่สามารถลดปริมาณสารดังกล่าว การที่จะลดได้คือการปอกเปลือกลึก เข้าไปในเนื้อผลให้มาก ควบคู่กับเก็บรักษา ผลมันฝรั่งสดที่ดี ดังนั้นผู้บริโภคควรเลือกซื้อมันฝรั่งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยตัด ฟกช้ำ ตำหนิ เป็นแผล ไม่แตกหน่อ ไม่มีจุดเขียว ควรเก็บไว้ในที่มืดพ้นแสง แห้ง และเย็นประมาณ 5-8 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันการแตกหน่อซึ่งช่วยลดการเกิดไกลโคแอลคาลอยด์ ปอกเปลือกให้ลึกเข้ามาในเนื้อให้มาก และตัดส่วนที่เสียหายออก ก่อนนำไปปรุงอาหาร

กรณีผลิตภัณฑ์จากมันฝรั่ง ไม่ควรบริโภคอาหารที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น ผลิตภัณฑ์มีรสขม และฝาด กรณีเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในภาชนะบรรจุต้องมีการแสดงฉลาก เช่น ชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน ข้อมูลการใช้วัตถุเจือปนอาหาร และข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์บนฉลาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง