การเลี้ยงไก่กรงตับมีมาแล้วกว่า 100 ปี ซึ่งไก่เหล่านั้นจะถูกขังตั้งแต่เกิดจนตาย เหมือนเป็นหุ่นยนต์ กางปีกได้บ้าง เหมือนเกิดมาเพื่อนั่งไข่แล้วตายไป
นพ.วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ผู้อำนวยการบริษัท คะตะลิสต์ จำกัด และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคติดเชื้อ กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “Good Food For All” ซึ่งจัดโดยสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ถึงแนวคิดการเลี้ยงไก่ไร้กรงเพื่อออกไข่ไก่อารมณ์ดี พร้อมระบุว่า "ขนาดการเลี้ยงไก่กรงตับเปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนการให้คนจำนวน 32 คน อัดอยู่ในห้อง 28 ตร.ม. แสงอาทิตย์ก็ยังไม่ได้เห็น"
ทั้งนี้ การนำสัตว์ไปอยู่ในที่คับแคบเช่นนั้นยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดในสัตว์และเสี่ยงต่อโรคระบาดจะแพร่มาสู่ในมนุษย์ได้อีกด้วย ทั่วโลกเริ่มปฏิเสธการกินไข่ไก่จากการเลี้ยงแบบกรงตับ และสนับสนุนการเลี้ยงไก่ไร้กรง ปล่อยอิสระเพื่อสวัสดิภาพของสัตว์
นอกจากนี้ ระบบกรงตับอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย เนื่องจากมีการใช้ยาปฏิชีวนะแบบหว่าน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากความเครียดของแม่ไก่ นำไปสู่ปัญหาการดื้อยาอย่างรุนแรง โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ พบว่า 2 ใน 3 ของยาปฏิชีวนะทั่วโลกถูกใช้ในระบบอุตสาหกรรมปศุสัตว์
ขณะที่สหรัฐอเมริกายกเลิกการเลี้ยงไก่แบบกรงตับหมดแล้ว EU ก็มีการตรากฎหมายให้การเลี้ยงไก่กรงตับเป็นเรื่องผิดกฎหมาย พร้อมจับตามองเอเชีย-แปซิฟิกอยู่เช่นกัน หากเกษตรกรเขาใหญ่หันมาเลี้ยงไก่ไร้กรงเพื่ออกไข่ไก่อารมณ์ดีกันได้ จะถือว่าเป็นการนำร่องที่เกษตรกรก็มีความสุข ไก่มีความสุข คนกินก็มีความสุขได้อีกด้วย
สิ่งที่เรากินเป็นตัวกำหนดธรรมชาต อาหารยั่งยืน โลกก็ยั่งยืน
หนุนผู้ประกอบการเขาใหญ่ใช้ไข่ไก่อารมณ์ดี
ด้านนายเขมรัช อมรวัตพงศ์ Project Manager โครงการ Investing in Others in Southeast Asia, World Animal Protection และผู้ก่อตั้ง Good Mission ระบุว่า การเลี้ยงไก่ไร้กรงมีโมเดลน่าสนใจจากประเทศเวียดนามซึ่งสนับสนุนให้ชาวบ้านเลี้ยง โดยเริ่มต้นตั้งแต่แนะนำวิธีการเลี้ยง ประสานร้านอาหาร โรงแรม เพื่อทำการตลาดรองรับ
เมื่อมีความต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับการสนับสนุนชาวบ้าน รวมทั้ง 2 ส่วนมาจับคู่กันระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย กลไกการตลาดนี้ก็จะช่วยให้ไข่ไก่อารมณ์ดีจากไก่ไร้กรงขายดีขึ้นมาได้
เมื่อหันกลับมาที่เขาใหญ่มีประชาชนราว 200,000 คน หากทุกคนกินไข่ไก่วันละ 1 ฟอง ต้องมีไข่ทั้งหมด 200,000 ฟอง ไก่ 1 ตัวออกไข่ได้เฉลี่ยวันละ 1 ฟอง ทำให้ชาวบ้านสามารถเลี้ยงไก่ได้ 200,000 ตัว โดยที่ไข่มีตลาดพร้อมรอรับซื้อ หากผู้ประกอบการร้านอาหารหรือโรงแรมทุกแห่งร่วมมือกันใช้ไข่ไก่อารมณ์ดีประกอบอาหารอย่าง Breakfast หรือ โจ๊กในมื้อเช้า
เร่งหาเครือข่ายเสิร์ฟอาหารจากวัตถุดิบในพื้นที่
ขณะที่นายวิโรจน์ อรุณพันธุ์ ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารอำเภอปากช่อง กล่าวถึงปัญหาด้านวัตถุดิบอย่างผัก ผลไม้ โดยระบุว่า แม้เขาใหญ่จะมีประชากรอยู่กว่า 200,000 คน แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกผักเพื่อไปส่งขายที่ตลาดไท ขณะที่ผู้ประกอบการที่เขาใหญ่ต้องไปซื้อผักจากตลาดไทกลับมาประกอบอาหาร
หากในอนาคตเขาใหญ่มีการประสานงานกันในภาพรวมวัตถุดิบ ร่วมกันผลิตเอง ใช้เอง ก็จะทำให้ควบคุมการผลิตที่ปลอดภัยได้ ซึ่งผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มเดินหน้าใช้พืชผลจากเกษตรกรในพื้นที่โดยตรงโดยแบ่งสัดส่วนเป็นใช้ของในพื้นที่ 50 ข้างนอก 50 หรือบางร้านเริ่มเป็น 70 ต่อ 30 แล้ว นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญมาก