เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2565 แรงงานชาวกัมพูชา 184 คนเดินทางเข้าประเทศไทย บริเวณด่านผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มแรกตามข้อตกลง MOU เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศ
นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ระบุว่า แรงงานทั้งหมดที่ขออนุญาตไว้มีจำนวน 226 คน แต่เดินทางเข้ามาเบื้องต้น 184 คน เป็นชาย 96 คน หญิง 88 คน
หลังแรงงานทั้งหมดเดินทางผ่านด่านควบคุมโรคระหว่าประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.สระแก้ว ต้องเข้ากักตัวในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (OQ) ในพื้นที่ จ.สระแก้ว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายคนละ 8,500 บาท นายจ้างเป็นผู้ออกให้ทั้งหมด ก่อนเดินทางไปทำงานต่อใน จ.ชลบุรี
ขณะที่แรงงานบางส่วนจะต้องกักตัว 7 วัน เนื่องจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จากประเทศต้นทาง และมีการซื้อกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 ส่วนแรงงานที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม จะต้องกักตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และจะมีการฉีดวัคซีนให้ระหว่างการกักตัว
ไทยขาดแรงงานกว่า 8 แสนคน
ก่อนหน้านี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุ ความต้องการแรงงานข้ามชาติของภาคการผลิตและโรงงานอุตสาหกรรม สูงถึง 500,000 คน ภาคการท่องเที่ยวและบริการ 300,000 คน รวมประมาณ 800,000 คน โดยต้องการให้ภาครัฐเร่งผลักดันการนำเข้าให้เร็วขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในการดำเนินธุรกิจซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เริ่มมีการฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19
เปิดขั้นตอนนำเข้าแรงงานข้ามชาติ
สำหรับขั้นตอนการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาตาม MOU นายจ้างจะต้องยื่นคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ กรมการจัดหางานประสานไปยังประเทศที่แรงงานอยู่ หลังประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อจะส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทย และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง
จากนั้นเมื่อนายจ้างได้รายชื่อแล้ว ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมเอกสารต่าง ๆ เช่น การรับผิดชอบค่าใช้จ่ายกักตัว ค่าตรวจโควิด-19 ค่าบริการทางการแพทย์ เป็นต้น จากนั้น กรมการจัดหางานจะมีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทางเพื่อพิจารณาออกวีซ่าตามบัญชีรายชื่อต่อไป
กสม.แนะทางออกแก้ปัญหาแรงงาน
ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า การนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตาม MOU ระหว่างไทยกับประเทศต้นทางยังมีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถแบกรับภาระได้ นอกจากนี้กฎระเบียบมีปัญหา เช่น ข้อจำกัดเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน การเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานข้ามชาติ ที่อาจทำให้แรงงานไม่สามารถเลือกทำงานได้เสรี
รวมถึงการบริหารจัดการทางทะเบียนของแรงงานข้ามชาติไม่เป็นเอกภาพและมีความซ้ำซ้อนกัน โดยในระยะสั้นเสนอให้กระทรวงแรงงานสำรวจความต้องการแรงงานข้ามชาติของผู้ประกอบการในทุกประเภทกิจการ พร้อมหารือกับประเทศต้นทางเพื่อปรับลดขั้นตอนการดำเนินการให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และปรับลดค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมเพื่อให้ธุรกิจรายย่อยนำเข้าแรงงานได้