ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ติดกล้องดักถ่ายภาพ "เสือโคร่ง" บ้านปิล๊อกคี่

Logo Thai PBS
ติดกล้องดักถ่ายภาพ "เสือโคร่ง" บ้านปิล๊อกคี่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอุทยานฯ จับมือองค์กรสิ่งแวดล้อม ติดกล้องดักถ่ายเสือโคร่งบ้านปิล๊อกคี่ กาญจนบุรี พร้อมออกประกาศห้ามเลี้ยงวัว ควาย ในเขตอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผืนป่าตะวันตก เว้นพื้นที่ผ่อนปรนให้อยู่อาศัยในป่าอนุรักษ์ แต่หากพบเป็นของนายทุนจะดำเนินคดีเด็ดขาด

วันที่ 1 ก.พ.2565 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ประชุมแนวทางความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ป่าตะวันตกตอนใต้ โดยที่ประชุมจะมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

  • เห็นชอบให้ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ ระยะเวลา 10 ปี โดยเสนอกรมอุทยานแห่งชาติฯ พิจารณาต่อไป
  • เร่งสำรวจข้อมูล วัว ควาย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในโซนป่าตะวันตก ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาในการเลี้ยงวัว ควาย ในป่าอนุรักษ์ต่อไป
  • เมื่อได้ข้อมูล วัว ควายในเขตอุทยานแห่งชาติ และในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว จะดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล โดยแยกข้อมูลว่า เป็นกลุ่มนายทุนนอกพื้นที่ที่จ้างให้ราษฎรในพื้นที่มาเลี้ยงวัว ควาย ในป่าอนุรักษ์ก็ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด หากเป็นราษฎรในพื้นที่เป็นเจ้าของเลี้ยงวัว ควาย ในป่าตามวิถีชีวิตของชุมชนในป่า ก็ให้หามาตราการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกับชุมชนต่อไป
  • ออกประกาศห้ามเลี้ยงวัว ควาย ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกตอนใต้ทั้งหมด เว้นแต่ในพื้นที่ผ่อนปรนตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 หากฝ่าฝืน มีความผิดตามมาตรา 21 ประกอบมาตรา 48 วรรคสอง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมีความผิดตามมาตรา 55 (6) ประกอบมาตรา 102 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 กล่าวเพิ่มเติมว่า จะให้เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ เข้าไปประชาสัมพันธ์และหาข้อมูลว่าปศุสัตว์ เช่น วัว ควาย ของชาวบ้านมีที่มาที่ไปอย่างไร มีตั๋วรูปพรรณหรือไม่ หากพบความผิดปกติ หรือเป็นของนายทุนจะดำเนินคดี ส่วนกรณีชาวบ้านเลี้ยงในพื้นที่ผ่อนปรนฯ สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม ป้องกันโรคติดต่อไปสู่สัตว์ป่า เช่น ลัมปี สกิน

อยู่ ๆ ถ้าตรวจเจอเลี้ยงเป็นฝูง 40-50 ตัว แต่ที่บ้านยากจนนี่น่าจะผิดปกติ ถ้าเป็นนายทุนจะดำเนินการเด็ดขาด

เล็งสนับสนุนงบฯ อนุรักษ์เสือโคร่ง ระยะ 10 ปี

น.ส.สุปราณี กำปงชัน สำนักงาน IUCN แผนงานประเทศไทย กล่าวว่า จากงบฯ โครงการสร้างความเข้มแข็งในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ที่ไม่สามารถดำเนินการในฝั่งเมียนมาได้นั้น จะมาดำเนินการในบริเวณอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ภายในปี พ.ศ.2565 นอกจากนั้นยังมีแผนขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก GEF-8 ในการอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในระยะยาว 10 ปี

ติดกล้องดักถ่าย-วางแผนผลักดันเสือโคร่ง

ขณะที่ Mr.Tim Redford มูลนิธิฟรีแลนด์ประเทศไทย รายงานผลการดำเนินโครงการประเมินประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ในผืนป่าตะวันตกตอนใต้ของประเทศไทย (WEFCOM) โดยยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ทำกินของราษฎรบ้านปิล๊อกคี่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม โดยจะเร่งดำเนินการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่ง บริเวณป่าบ้านปิล๊อกคี่ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และเขตป่ารอยต่อของประเทศไทย-เมียนมา

จะเริ่มติดตั้งกล้องตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.2565 เป็นต้นไป เพื่อดักถ่ายภาพเสือโคร่ง และเหยื่อในบริเวณดังกล่าว โดยนำข้อมูลมาวางแผนในการผลักดันเสือโคร่งเข้าป่าลึก รวมทั้งนำมาวางแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในเขตป่ารอยต่อชายแดนไทยและเมียนมาต่อไปด้วย

 

นางกฤษณา แก้วปลั่ง องค์การแพนเทอร่าประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่การสำรวจประชากรเสือโคร่งในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมผืนป่าตะวันตกตอนใต้ โดยเสนอให้มีการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ เพื่อเป็นแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่า และหากมีแนวทางแก้ไขปัญหาภัยคุกคามของสัตว์ป่า อยากให้ดำเนินการพร้อมกันในทุกพื้นที่

นอกจากนี้ สำนักงานแผนงานประเทศไทย IUCN สนับสนุนอุปกรณ์การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ 170 ชุด (1 ชุด ประกอบด้วย เป้ร๊อคแซค เปลสนาม ฟลายชีท และหม้อสนาม) ให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่โครงการฯ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าต่อไป

 

สำหรับการประชุมดังกล่าว กรมอุทยานฯ ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) แผนงานประเทศไทย มูลนิธิฟรีแลนด์ประเทศไทย องค์การแพนเทอราประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติและหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ในโซนป่าตะวันตกตอนใต้ เพื่อนำเสนอผลการสำรวจประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกตอนใต้ และระดมความคิดเห็นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ชาวบ้านกังวลผิดเงื่อนไขอยู่ในป่า เล็งจัดระเบียบปศุสัตว์บ้านปิล็อกคี่ 

“เสือโคร่ง” ทำร้ายชาวบ้านปิล๊อกคี่ ลำเลียงคนเจ็บทางเรือส่ง รพ. 

ผู้ต้องหาคดีเสือโคร่งร้อง "กสม."ถูกขับพ้นเขาแหลม-ห้ามเลี้ยงสัตว์ 

สั่งห้าม! เข้าห้วยปิล๊อก-สะมะท้อ 90 วันหลังเสือโคร่งกัดคน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง