วันนี้ (5 ก.พ.2565) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยในปี 2564 มีปริมาณ 24.98 ล้านตัน ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 1 จำนวนนี้มีขการคัดแยกจากต้นทาง และนำกลับไปใช้ประโยชน์ 8.61 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 3 กำจัดอย่างถูกต้อง 9.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 6 และกำจัดไม่ถูกต้องประมาณ 6.69 ล้านตัน ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 15
อธิบดีคพ.กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ปริมาณขยะมูลฝอยลดลงเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้มีการควบคุมการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาไทย ขณะเดียวกันมาตรการ Work From Home การสั่งอาหารผ่านระบบบริการส่งอาหาร ส่งผลให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียว เพิ่มขึ้น เช่น กล่องโฟม กล่องพลาสติกใส่อาหาร ถุงพลาสติกหูหิ้ว ถุงร้อน-เย็น ถุงเครื่องปรุง ช้อน ส้อม มีดพลาสติก แก้วพลาสติก จากห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และ Platform ของผู้ให้บริการส่งอาหาร

ขยะติดเชื้อปี 64 เพิ่มร้อยละ 87
นายอรรถพล กล่าวว่า ส่วนขยะมูลฝอยติดเชื้อปี 2564 มีปริมาณ 90,009.23 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 87 ส่วนใหญ่มาจากการรวบรวมขยะติดเชื้อทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน คลินิก โรงพยาบาลสนาม สถานกักกันที่ราชการกำหนด ศูนย์แยกกักในชุมชน (CI) การแยกกักตัวที่บ้าน (HI) และสถานที่อื่น โดยพบว่ามีขยะติดเชื้อจัดการอย่างถูกต้อง 81,774.67 ตัน ร้อยละ 90.85
อ่านข่าวเพิ่ม ขยะติดเชื้อพุ่ง 20 ตันต่อวันวาง 1,000 จุดทิ้งแมสก์ "พับ ก่อน ทิ้ง"

ขยะอันตรายเพิ่ม-เครื่องใช้ไฟฟ้า-อุปกรณ์ไฮเทค
สำหรับของเสียอันตรายจากชุมชน ปี 2564 เกิดขึ้นประมาณ 669,518 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 1.6 ส่วนใหญ่เป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 435,187 ตัน ร้อยละ 65 และของเสียอันตรายประเภทอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ประมาณ 234,331 ตัน ร้อยละ 35

แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาปัจจุบันประชาชนมีความต้องการและนิยมใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ส่งผลให้มีการเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บ่อยขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
วันแรก! ติดโควิดเกินหมื่นคนยอด 10,273 คน เสียชีวิต 21 คน