ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สาธิต มธ. แจงปมดรามาหลัง “ประยุทธ์” สั่งจับตาหลักสูตร

สังคม
6 ก.พ. 65
12:11
2,835
Logo Thai PBS
สาธิต มธ. แจงปมดรามาหลัง “ประยุทธ์” สั่งจับตาหลักสูตร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สาธิตธรรมศาสตร์แจงหลักสูตรของโรงเรียนทันสมัย เหมาะกับความเปลี่ยนแปลง และนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง หลัง “ประยุทธ์” ให้สัมภาษณ์สั่งจับตา อ้างว่ามีการบิดเบือนประวัติศาสตร์

จากกรณี วันที่ 31 ม.ค.2565 รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี อดีตคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานบริหาร โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ เฟซบุ๊กเพจ Mappa ถึงแนวคิดทางการศึกษา และวิธีการบางอย่างที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และเพื่อให้นักเรียนได้นำความรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

ดร.อนุชาติกล่าวตอนหนึ่งว่า

หลายวิชาเราสลัดทิ้ง เช่นวิชาลูกเสือเนตรนารี ก็เปลี่ยนเป็นวิชาอยู่รอดปลอดภัย รื้อเนื้อหาใหม่หมด เรียนทำไม เงื่อนปม หรือแบกธง ก็เปลี่ยนเป็นซ้อมหนีไฟให้เป็น เวลาไฟไหม้ดับไฟเป็นมั้ย ปฐมพยาบาลให้เป็น ว่ายน้ำก็ไม่มุ่งกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ แต่เอาพัฒนาการด้านร่างกายก่อน ครูพละต้องตอบโจทย์ว่า ถ้าเด็กตกน้ำต้องรอด เอาแค่นี้ ไม่ต้องมาผีเสื้อกับผม

ดร.อนุชาติยังระบุด้วยว่า

เราไม่ใส่เครื่องแบบ ไม่เคร่งครัดเรื่องทรงผม ไม่มีวิชาลูกเสือเนตรนารี ไม่สอนวิชาพระพุทธศาสนา ไม่ให้เด็กมายืนเคารพธงชาติตอนเช้า ไม่มีสวดมนต์ตอนเช้า แต่เรามีคำตอบในการอธิบายสิ่งเหล่านี้ว่าเราจะใช้อะไรมาเป็นกติกาในการสร้างความเป็นระเบียบวินัยของเด็ก

ข้อความดังกล่าวได้รับการแชร์ออกไปจำนวนมาก และมีความเห็นจากคนรุ่นใหม่ ในเรื่องการปรับปรุงการศึกษาที่ทันสมัย ไม่ยึดติดแบบเก่าอย่างไร้เหตุผล

ต่อมา วันที่ 4 ก.พ.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า กำลังให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปดูอยู่กรณีที่มีข้อห่วงใยหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจมีการบิดเบือนประวัติศาสตร์และสถาบัน

นี่คือเรื่องการศึกษา เป็นสิ่งสำคัญการศึกษาจะต้องมีเป้าหมายที่ดี ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ มีความคิดอย่างเป็นระบบ มีมาย์เซ็ทที่ดี สิ่งเหล่านี้ตนกำลังแก้ โดยได้มีการสั่งการ กำหนดนโยบายไปยัง กระทรวงอุดมศึกษาฯ และกระทรวงศึกษาธิการ มาโดยตลอด ทั้งหลักสูตร การศึกษา การสอนของครู การเพิ่มสมรรถนะ ทั้งหมดมีอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องปรับกลไกบางตัวให้ทันสมัยขึ้น และองคาพยพเหล่านั้นต้องทำตามนี้

 

ล่าสุด วันนี้ (6 ก.พ.2565) โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ต่อสาธารณชน ระบุว่า

ตามที่มีกระแสข่าวในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความสับสน คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ลดทอนคุณค่าและความมุ่งมั่นอันแท้จริง โรงเรียนฯ จึงขอชี้แจงและทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความสำคัญกับการเคารพความหลากหลายทางความคิดและมุมมอง โดยโรงเรียนฯ ร่วมทำงานกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่ช่วยเตรียมความพร้อมเยาวชนสำหรับการเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองโลกที่พร้อมใช้วิจารณญาณในการเผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน

2.โรงเรียนฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรและนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนบนฐานความรู้ที่ทันสมัย ครอบคลุมสาระการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้น และมีความเหมาะสมกับพัฒนาการของผู้เรียน นอกจากวิชาสาระหลัก โรงเรียนฯ ยังได้จัดให้มีการสอนในวิชาต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ วิชาอยู่รอดปลอดภัย วิชาว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด วิชาวัยรุ่นศาสตร์ วิชารู้ทันการเงิน วิชาเสพศิลป์และกลิ่นเสี่ยง วิชาผู้ประกอบการ วิชารู้เท่าทันสื่อ วิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมเนื้อหาทุกศาสนา) เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง

3.โรงเรียนฯ มีเป้าหมายในการบ่มเพาะเยาวชน ให้เป็นผู้มีจิตสำนึกพลเมืองที่เข้มแข็ง เป็นพลเมืองโลกที่ยึดโยงกับบริบทของสังคมไทย มีทักษะและสมรรถนะแห่งอนาคต รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ มีภาวะผู้นำ มีความสามารถในการกำกับตนเอง เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และสามารถทำงานเป็นทีม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเยาวชนให้มีคุณลักษณะดังกล่าว

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงเรียนฯ ตระหนักดีว่า การบุกเบิกสร้างการเปลี่ยนแปลงไปเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา มีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจ โรงเรียนฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจตนารมณ์ในการสร้างและพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนฯ จะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนให้สามารถขยายผลได้ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง