ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส.อ.ท.คาดภาวะของแพงลากยาว แนะรัฐลดค่าน้ำ-ค่าไฟช่วย ปชช.

เศรษฐกิจ
8 ก.พ. 65
10:12
264
Logo Thai PBS
ส.อ.ท.คาดภาวะของแพงลากยาว แนะรัฐลดค่าน้ำ-ค่าไฟช่วย ปชช.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ภาคเอกชนเสนอแนะว่ารัฐควรจะลดค่าน้ำ-ค่าไฟ เพื่อช่วยเหลือลดค่าครองชีพให้ประชาชน หลังมีการประเมินว่าราคาสินค้าจะแพงไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจจะยาวไปถึงสิ้นปี

เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2565 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ ส.อ.ท.โพล ประจำเดือน ก.พ.2565 หัวข้อ "สินค้าแพง ค่าครองชีพพุ่ง จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร"

พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่าปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ และคาดว่าภาวะราคาสินค้าแพงจะยาวนานไปอย่างน้อย 3 เดือน หรืออาจยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากราคาพลังงานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถตรึงราคาสินค้าได้อีกแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น

มุมมองของผู้บริหาร ส.อ.ท. เสนอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยการลดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำประปา, ค่าเดินทาง รวมทั้งลดภาระภาษีและค่าธรรมเนียม เช่น ภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิง และสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพอื่นๆ ไปจนถึงมาตรการ เช่น คนละครึ่ง นอกจากนี้ยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในกรอบ 2-4%

ราคาค่าพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น อาจทำให้ราคาจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จยังไม่มีแนวโน้มปรับลดลงมา แม้ว่าราคาหมูเนื้อแดงจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจราคาอาหารสดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. พบว่าราคาหมูเนื้อแดงลดลงต่อเนื่องเหลือกิโลกรัมละ 170-185 บาท จากเดือนก่อนที่กิโลกรัมละ 210-220 บาท เพราะรัฐบาลตรวจสต็อกหมูเป็น และหมูชำแหละอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ลดการกักตุนและมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับความต้องการลดลงหลังผ่านเทศกาลตรุษจีน ส่งผลให้ผู้ค้าต้องปรับลดราคาลง

ส่วนราคาไก่สด น่อง สะโพก ยังทรงตัวที่กิโลกรัมละ 70-75 บาท ไข่ไก่เบอร์ 3 ยังคงที่ฟองละ 3.50 บาท แต่ผักบางชนิดเริ่มแพงขึ้น จากภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตลดลงและความต้องการสูงขึ้น เช่น ผักคะน้า กิโลกรัมละ 30-35 บาท จาก 25 บาท ผักบุ้งจีน กิโลกรัมละ 30-35 บาท จาก 21 บาท เป็นต้น

อ่านข่าวอื่นๆ

ร้านค้าปฏิเสธรับสแกน"คนละครึ่ง" หวั่นถูกเรียกภาษีย้อนหลัง

ระเบิดเวลา "ราคาน้ำมัน" จับสัญญาณ "ชาวสวนปาล์ม-รถบรรทุก"

กองสลากฯ เปิดให้คนสมัครค้าสลากฯ แก้ไขข้อมูลส่วนตัว 7-13 ก.พ.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง