ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สภาฯ​ โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ส่ง ครม.พิจารณา 60 วัน

การเมือง
9 ก.พ. 65
18:55
2,623
Logo Thai PBS
สภาฯ​ โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ส่ง ครม.พิจารณา 60 วัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ที่ประชุมสภา​ โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ. .... หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม รอครม.นำร่างไปศึกษา 60 วัน ก่อนลงมติวาระสมัยหน้า

วันนี้ (9 ก.พ.2565) ที่ประชุมสภา​ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ. .... หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งเสนอโดยธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ธัญวัจน์ อภิปรายว่า การที่ชาย-หญิงทั่วไปตัดสินใจสร้างครอบครัว จดทะเบียนสมรส และใช้ชีวิตร่วมกัน โดยมีบทบาท มีหน้าที่ มีสิทธิ ศักดิ์ศรี และสวัสดิการ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทุกคนเข้าใจ แต่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่มีสิทธิพื้นฐานเหล่านี้ สิทธิในการประกอบตั้งครอบครัว ไม่สามารถจัดทะเบียนสมรสได้ ไม่มีสิทธิ ไม่มีศักดิ์ศรี และไม่มีสวัสดิการ

สมรสเท่าเทียม ไม่ได้เป็นการเรียกร้องอะไรที่มากกว่าผู้อื่น แต่กลุ่ม LGBTQ+ กำลังบอกกับผู้มีอำนาจว่า พวกท่านพรากสิทธิการก่อตั้งครอบครัวของพวกเราไป


ในต่างประเทศมีการคุ้มครองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้เปลี่ยนจากคำว่าชาย-หญิง เป็น บุคคล-บุคคล เป็นใจความสำคัญ เพราะเป็นหลักการที่สอดคล้องกับหลักการยอกยาการ์ตา ที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่าการบัญญัติกฎหมายนั้น ต้องคำนึงถึงเพศสภา เพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า สังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว ในฐานะผู้แทนราษฎร์ ต้องขอโทษกับคนหลายกลุ่ม ทั้งคนที่เป็นครอบครัวกันมา 40-50 ปี แต่ในนาทีที่ต้องชี้เป็นชี้ตายเขากลับไม่มีสิทธิที่จะบอกได้ว่าจะรักษาชีวิตคนที่เขารักได้อย่างไร รวมไปถึงการขอโทษครูที่ไม่สามารเป็นครูได้ เพราะมีบางวิทยาลัยครูที่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ

เรากำลังสื่อสารไปยังคนวัยสี่สิบกว่า ๆ ที่กำลังจะสร้างชีวิต สร้างครอบครัว สร้างบ้าน ให้ยังมีความหวังอยู่ว่า เขามีสิทธิในการหมั้น ในการสมรส กู้ซื้อบ้านร่วมได้ หรือตัดสินแทนกันในนาทีชี้เป็นชี้ตายได้


สำคัญมากที่สุด คือ เยาวชนรุ่นลูกหลาน ขณะนี้เรากำลังส่งสัญญาณไปว่า สังคมนี้ยอมรับในความหลากหลาย เยาวชนรุ่นลูกหลานเราไม่ได้ผิดปกติ สภาฯ กำลังตามให้ทันสังคม มันคือกระจกสะท้อนที่กำลังบอกว่า เยาวชนรุ่นลูกหลานเราสามารถมีชีวิตได้เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในสังคม

ด้านซูการ์โน มะทา ส.ส.พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า หลักการทำงานของพรรคประชาชาติ ยึดมั่นคัมภีร์อัลกุรอานเป็นสำคัญ ซึ่งถือปฏิบัติมานานกว่า 1,400 ปี โดยกฎหมายใดที่ขัดต่อหลักการดังกล่าว จะไม่สามารถรับหลักการกฎหมายนั้นได้

ผมในฐานะตัวแทนคนไทยนับถือศาสนาอิสลาม ประมาณกว่า 10 ล้านคน ซึ่งในหลักการของศาสนาอิสลาม คำว่า สามี-ภรรยา คือ ผู้หญิงกับผู้ชาย และในคัมภีร์อัลกุรอานก็เขียนชัด ทั้งยังมีบทลงโทษด้วย 


ทั้งนี้ ในเรื่องของศาสนา สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เขียนชัดเจนว่า สามารถประกอบพิธีกรรมตามศาสนาของตนเองได้ และหากกฎหมายใดขัดกับรัฐธรรมนูญก็ถือว่ากฎหมายนั้นใช้บังคับไม่ได้ 

ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ ครม.จะนำร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไปพิจารณาก่อนรับหลักการ 60 วัน เพราะร่างกฎหมายนี้เสนอมานานแล้ว สุดท้ายหลังพ้น 60 วัน กว่ากฎหมายจะได้พิจารณาก็จะผ่านไปนาน หากรัฐบาลจริงใจควรให้ลงมติทันที ไม่ต้องให้รอ 60 วัน 

พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการยื้อเวลา แต่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และจะรับหลักการ


ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาลงมติเห็นด้วย 219 ต่อ 118 เสียง รับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ. .... โดยต้องรอให้ ครม.นำร่างไปศึกษาก่อน จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงจะลงมติวาระหนึ่ง ว่าจะ "รับหลักการ" ร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ในการประชุมสมัยหน้า 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

โซเชียลเดือด หลัง ครม.ไฟเขียวร่าง "พ.ร.บ.คู่ชีวิต"

#สมรสเท่าเทียม สู่ปมแก้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ

LGBTQ ยื่นหนังสือถึง กมธ. แก้กฎหมาย เปิดทางสมรสเท่าเทียม

มติสภาฯ​ ให้ ครม.รับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าไปศึกษา ก่อนโหวตวาระแรก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง