วันนี้ (16 ก.พ.2565) สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ชี้แจงว่า "กรุงเทพมหานคร" ใช้ได้ทั้ง KrungThep Maha Nakhon และ Bangkok โดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ให้ถูกต้องและชัดเจน โดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชาจากกระทรวงการต่างประเทศร่วมพิจารณาด้วย
เพื่อให้ส่วนราชการนำการกำหนดชื่อประเทศดินแดนเขตการปกครอง และเมืองหลวงดังกล่าวไปใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนชื่อเกิดขึ้น หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง แล้วจะอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา ประกอบกับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนดำเนินการต่อไป
ชื่อเมืองหลวงในบางประเทศก็เรียกทับศัพท์ เช่น โตเกียว ของ ญี่ปุ่น ลอนดอน ของ อังกฤษ เเละ ฮานอย ของเวียดนาม เป็นต้น
เหตุผลเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเมืองหลวง
เมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอว่า
1. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (ชื่อเดิม ราชบัณฑิตยสถาน) โดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้ปรับปรุงการเขียนชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และเสนอคณะรัฐมนตรีจัดทำประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม แต่ปัจจุบันมีชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวงเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการเปลี่ยน แปลงระบอบการปกครอง สถานะ และเขตการปกครองบางประเทศหรือบางเขตการปกครองได้ย้ายที่ตั้งและเปลี่ยนชื่อเมืองหลวง ประกอบกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศและมีการประกาศใช้หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม
2. สำนักงานราชบัณฑิตยสภาโดยคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ให้ถูกต้องและชัดเจนโดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชาจากกระทรวงการต่างประเทศร่วมพิจารณาด้วย เพื่อให้ส่วนราชการนำการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวงดังกล่าวไปใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงได้เสนอร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง มาเพื่อดำเนินการ
ยกเลิกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดนเขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 9 พ.ย.2544 และให้ใช้ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่องกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ลงวันที่ 1 ก.ย.2564 รายละเอียดดังนี้ ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง เช่น กรุงเทพมหานคร จาก Krung Thep Maha Nakhon ; Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) แก้ชื่อเมืองหลวงโดยเก็บชื่อเดิมไว้ในวงเล็บ
ทั้งนี้ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณี ครม.มีมติรับทราบการปรับปรุงแก้ไขการเรียกชื่อทัพศัพท์ของชื่อเมืองหลวง ในหลายประเทศตามที่ราชบัณฑิตยสภาเสนอ ว่าสำหรับประเทศไทย เป็นการปรับเพียงเครื่องหมายเพียงเล็กน้อย จากเดิมที่ราชบัณฑิตฯกำหนดไว้ เรื่องการทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่คำว่า Bangkok จะอยู่หลังเครื่องหมาย อัฒภาค “Krung Thep Maha Nakhon; Bangkok กทม.“ เป็น“Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) กทม.” โดยเก็บชื่อเดิมไว้ในวงเล็บ ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานของทางราชการเท่านั้น
ทั้งนี้ ราชบัณฑิตยสภา ยืนยันแล้วว่า “กรุงเทพมหานคร” ใช้ได้ทั้ง “Krung Thep Maha Nakhon “ และ”Bangkok”
ชื่อเมืองหลวง #กรุงเทพ #ราชบัณฑิตยสภา ไม่ได้มีอะไรมาก ไม่ได้เปลี่ยนอะไร
— รัชดา ธนาดิเรก - รองโฆษกรัฐบาล (@Rachadaspoke) February 16, 2022
จากเดิมที่ราชบัณฑิตฯกำหนดไว้ เรื่องการทับศัพท์ภาษาอังกฤษ Krung Thep Maha Nakhon; Bangkok กทม.
เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) กทม. โดยเก็บชื่อเดิมไว้ในวงเล็บ
เพื่อใช้เป็นมาตรฐานของทางราชการค่ะ