ความคืบหน้ากรณีสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ชี้แจงว่า "กรุงเทพมหานคร" ใช้ได้ทั้ง KrungThep Maha Nakhon และ Bangkok ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่พบว่ายังมีประเด็นในโซเชียล
วันนี้ (17 ก.พ.2565) นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ได้สร้างแคมเปญรณรงค์คัดค้านการเปลี่ยนแปลงชื่อภาษาอังกฤษ จาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon ของราชบัณฑิตยฯ ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.change.org
แคมเปญดังกล่าวระบุว่า ราชบัณฑิตยสภาจะมาอ้างว่าสามารถเลือกใช้ชื่อ Bangkok หรือ Krung Thep Maha Nakhon ก็ได้นั้นไม่จริง เพราะเมื่อ ครม.มีมติเห็นชอบในที่สุดแล้ว ต้องไปทำประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐใช้ตามนั้น คือ Krung Thep Maha Nakhon ; (Bangkok) ไม่สามารถเลือกได้

ตามที่ราชบัณฑิตยสภา ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศ ดินแดน และเมืองหลวงใหม่ ให้ถูกต้องและชัดเจน เมืองหลวงของประเทศไทย ให้แก้ไขจาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakon และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 ก.พ.65 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดนเขตการปกครอง และเมืองหลวง ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงการต่างประเทศไปประกอบการพิจารณาด้วยแล้วดำเนินการต่อไปได้ นั้น
เห็นว่าเป็นสิ่งที่จะสร้างความยุ่งยากและความสับสนต่อการติดต่อสื่อสาร การรับรู้จากชาวต่างชาติซึ่งคุ้นเคยกับคำว่า Bangkok มาอย่างยาวนาน อีกทั้งคำว่า Bangkok มีความกระชับและง่ายต่อการเรียกขานและจดจำ

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นอกจากจะสร้างผลกระทบต่อการติดต่ออย่างเป็นทางการกับต่างประเทศแล้ว ยังสร้างความยุ่งยากในการติดต่อทางธุรกิจ และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของไทยในตำราวิชาการในระดับสากลอีกด้วย
จึงเห็นควรให้ใช้คำว่า Bangkok ต่อไปตามเดิมเพราะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและเป็นชื่อแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยเพราะมีรากศัพท์มาจาก ”บางกอก” ซึ่งเป็นภาษาไทยเช่นกัน
ล่าสุดเมื่อเวลา 12.45 น.มีผู้เข้าร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญดังกล่าวแล้ว 2,608 คน ทั้งนี้แม้ว่า ราชบัณฑิตยสภา ยืนยันแล้วว่า "กรุงเทพมหานคร" ใช้ได้ทั้ง "Krung Thep Maha Nakhon" และ "Bangkok"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ราชบัณฑิตยสภา แจงชื่อภาษาอังกฤษเมืองหลวง "Krung Thep Maha Nakhon"