วันนี้ (22 ก.พ.2565) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ระบุว่า ทะลุ 426 ล้านแล้ว เมื่อวานนี้ ทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,244,281 คน ตายเพิ่ม 6,097 คน รวมแล้วติดไปรวม 426,229,273 คน เสียชีวิตรวม 5,908,832 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ รัสเซีย เยอรมนี เกาหลีใต้ ตุรกี และญี่ปุ่น
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.38 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.16 ล่าสุด จำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 48.01 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 44
เมื่อวานนี้ จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สถานการณ์ไทย
ตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยัน (RT-PCR) เมื่อวานนี้ ถือว่าสูงเป็นอันดับ 18 ของโลก และอันดับ 8 ของเอเชีย แต่ถ้ารวม ATK ไปด้วย จะขึ้นมาเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ติดเชื้อจริงจะมากกว่าที่เห็นจากตัวเลขที่รายงาน เพราะปัญหาในการเข้าถึงบริการตรวจ ไม่ว่าจะ RT-PCR หรือ ATK ก็ตาม ยังไม่นับเรื่องโอกาสเกิดผลลบลวงจากการตรวจด้วย ATK ซึ่งมีสูงกว่าวิธี RT-PCR เนื่องจากความไวต่ำกว่า
จากที่เคยวิเคราะห์ธรรมชาติการระบาดทั่วโลกในกลุ่มประเทศที่ผ่านพีคของ Omicron ไปแล้วนั้น ค่ามัธยฐานของจำนวนติดเชื้อสูงสุดต่อวันจะสูงกว่าพีคเดลต้าราว 3.65 เท่า ทั้งนี้ ไทยเรามีปัญหาหลักอยู่ที่ข้อจำกัดเชิงระบบบริการตรวจ ทำให้ตรวจได้ไม่มาก
"ดังนั้นภาพรวมสุดท้ายในอนาคตอันใกล้นั้น น่าจะเห็นพีคไทยได้เท่าที่ตรวจ" แต่ขอให้เราตระหนักไว้ว่าธรรมชาติการระบาดของต่างประเทศเป็นดังที่กล่าวมา และต้องป้องกันตัวให้เคร่งครัด
แนะเปิดโหมด survival สำหรับตนเอง-ครอบครัว
เรื่องสำคัญที่ขอเน้นย้ำอีกครั้ง ที่ต้องทำตอนนี้มีอยู่เรื่องเดียวจริงๆ คือ "เปิดโหมด survival" สำหรับตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ได้
มุ่งเป้า "ไม่ติดเชื้อ" เพื่อที่จะไม่ต้องไปลุ้นเรื่องภาวะอาการคงค้างเรื้อรังหรือ Long COVID ซึ่งเสี่ยงต่อการเสื่อมสมรรถนะร่างกายและจิตใจในระยะยาว ทำให้ความสามารถในการดูแลตนเองลดลง ต้องพึ่งพิงคนอื่น หรือทุพพลภาพ จะทำเช่นนั้นได้ ไม่มีทางอื่นนอกจาก "การป้องกันตัว"
1. ใส่หน้ากากเสมอ
เจอใครไม่ใส่ ก็ "ชั่งหัวมัน" เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้องเอาตัวรอด ใครรักชีวิตเสี่ยงก็เสี่ยงไป แจ็คพอตก็หวังว่าจะกล้าหาญพอที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายในอนาคต
2. เว้นระยะห่างจากคนอื่น
ชีวิตจริงเวลาไปทำธุระ ไปทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวัน แม้เราจะระวัง แต่จะเจอเสมอที่คนอื่นๆ ที่เราพบปะนั้นจะเข้ามาคลุกคลีใกล้ชิดปานจะกลืนกิน ดังนั้น พอเห็นใครมาใกล้กว่า 1 เมตร ขอให้ก้าวกระเถิบออกมาให้ห่างจากเขา
การทำเช่นนี้ ไม่ได้เสียมารยาท แต่เป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยทั้งเราและเขา เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าใครจะติดจากใคร นอกจากนี้ พอเราทำเป็นตัวอย่างให้เห็น ก็จะเป็นการกระตุ้นให้คนอื่นเกิดการเรียนรู้ และเป็นบรรทัดฐานเวลาเจอกันยามระบาด
3. งดกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น
ติดกันมานักต่อนัก มากมายรอบตัว ทั้งจากการกินข้าวในที่ทำงาน การนัดพบปะสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูง หรืออื่นๆ หลายที่ก็มีนโยบายห้ามหรืองดกินข้าวร่วมกันในที่ทำงาน ให้แยกไปต่างคนต่างกิน
ส่วนที่ไหนที่ทำไม่ได้ หรือใครทำไม่ได้ ก็ขอให้ตระหนักไว้ว่าเสี่ยงแน่นอน รอแจ็คพอตว่าจะเมื่อใดก็เท่านั้น จึงต้องอ่านข้อสุดท้ายคือข้อ 4 ต่อไป
4. หมั่นตรวจตราตนเองและสมาชิกในครอบครัว หากไม่สบายคล้ายหวัด ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ไอ เจ็บคอ คัดจมูกน้ำมูกไหล แม้เล็กน้อย ก็จงตระหนักไว้ว่ามีโอกาสเป็นโควิด-19 และจะนำพาไปสู่การระบาดในครอบครัว และที่ทำงานได้
ดังนั้น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แยกตัวจากคนใกล้ชิด ป้องกันตัว 100% และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน เป็นความรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
หากท่าน และครอบครัวป้องกันตัวเต็มที่ดังที่กล่าวมาข้างต้น ความเสี่ยงจะลดลงไปมาก และเป็นหนทางสู่โหมด survival
ย้ำอีกครั้งว่า Long COVID จะเป็นปัญหาหลักในอนาคต ตัวเลขแต่ละวันที่เห็นนั้นอาจไม่สะท้อนสถานการณ์จริงเพราะมีข้อจำกัดในเรื่องศักยภาพของระบบการตรวจ การติดเชื้อใหม่ในแต่ละวัน จึงน่าจะมากกว่าที่เห็น
Long COVID ป้องกันได้ หากเราป้องกันตัว