ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คำแนะนำดูแลเด็กต่ำกว่า 15 ปี ติดโควิด หลังป่วยสะสมสูงหลักหมื่น

สังคม
24 ก.พ. 65
16:29
2,693
Logo Thai PBS
คำแนะนำดูแลเด็กต่ำกว่า 15 ปี ติดโควิด หลังป่วยสะสมสูงหลักหมื่น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ออกคำแนะนำการดูแลรักษา COVID-19 ในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี พบตั้งแต่ 31 ธ.ค.64-16 ก.พ.65 เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดเชื้อสูงถึง 21% สะสม 77,635 คน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการให้ดูแลที่บ้าน ส่วนกลุ่มมีอาการให้ฟาวิพิราเวียร์

วันนี้ (24 ก.พ.2565) ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่คำแนะนำฉบับเบื้องต้น การดูแลรักษา COVID-19 ในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า15 ปี (COVID-19 Interim Guidance: Management of Children with COVID-19) ฉบับที่ 1/2565 โดยมีรายละเอียดว่า

การระบาดของ SARS CoV-2 สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ไปทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2565 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การติดเชื้อสะสมในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ตั้งแต่ 31 ธ.ค.2564-16 ก.พ.2565 สูงถึง 77,635 คน คิดเป็นร้อยละ 21 ของผู้ติดเชื้อในทุกกลุ่มอายุ (ข้อมูล จาก SATCOVID team กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 16 ก.พ.2565)

เนื่องจากในการระบาดของเชื้อโอมิครอน พบผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงและการเสียชีวิตน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ผ่านมา และจากการติดตามผู้ป่วยเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรืออาการน้อย สามารถให้การดูแลที่บ้านได้ โดยให้การรักษาแบบประคับประคอง ส่วนน้อยมากที่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส หรือต้องนอนโรงพยาบาล ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จึงพิจารณาร่างแนวทางการรักษา COVID-19 ในเด็ก ให้เหมาะกับการระบาดในขณะนี้ ซึ่งแม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่สามารถรักษาโดยพักอยู่ที่บ้านได้ ซึ่งจะเหมาะกับผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็ก โดยคำแนะนำนี้เป็นฉบับเบื้องต้น ซึ่งจะมีการออกคำแนะนำฉบับสมบูรณ์ต่อไป

ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (probable case) ผู้ที่มีผลตรวจ ATK ต่อเชื้อไวรัส SARSCoV-2 ให้ผลบวก และผู้ติดเชื้อยืนยัน (confirmed case) ทั้งผู้ที่มีอาการและไม่แสดงอาการ ให้ใช้ยาในการรักษาจำเพาะดังนี้

1. ผู้ติดเชื้อ SARS-COV-2 ไม่มีอาการ (Asymptomatic COVID-19) ไม่แนะนำยาต้านไวรัส สามารถให้การดูแลแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านได้ อาจ ไม่จำเป็นต้องเข้าระบบบริการ Home isolation หรือรับการรักษาในโรงพยาบาล

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง (Symptomatic COVID-19 without pneumonia and no risk factors) แนะนำให้ดูแลรักษาตามอาการ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก และแยกกักตัวที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าระบบบริการ Home isolation หรือรับการรักษาในโรงพยาบาล, อาจพิจารณาให้ favipiravir เป็นเวลา 5 วัน ตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น กรณีที่ไข้สูง 39 องศาเซลเชียสต่อเนื่องกันมากกว่า 1 วัน อ่อนเพลีย ซึม อาเจียน ท้องเสีย รับประทานอาหารได้น้อย เป็นต้น

3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการปอดอักเสบ (pneumonia) เล็กน้อยไม่เข้าเกณฑ์ข้อ 4 ปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ ได้แก่ อายุน้อยกว่า 1 ปี และมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค COVID-19 อย่างรุนแรง, แนะนำให้ favipiravir เป็นเวลา 5 วัน อาจให้นานกว่านี้ได้ หากอาการยังมาก โดยแพทย์พิจารณาตามความเหมาะสม, สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยจัดให้มีช่องทางให้ผู้ป่วยสามารถติดต่อเข้ารับการประเมิน หรือรับการรักษาในโรงพยาบาลหากอาการเปลี่ยนแปลงหรือทรุดลง

4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการปอดอักเสบปานกลาง หรือรุนแรง ได้แก่ หายใจเร็วกว่าอัตราการหายใจตามกำหนดอายุ (60 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ <2 เดือน, 50 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ 2-12 เดือน, 40 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ 1-5 ปี และ 30 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ >5 ปี) แนะนำให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล, แนะนำให้ favipiravir เป็นเวลา 5-10 วัน, พิจารณาให้ remdesivir หากเป็นมาไม่เกิน 10 วัน และมีปอดอักเสบที่ต้องการการรักษาด้วยออกซิเจน หรือมีอาการรุนแรง แนะนำให้ corticosteroid

5. ผู้ป่วยยืนยันที่มีข้อบ่งชี้ในการนอนโรงพยาบาลอื่น ๆ เช่น ท้องเสีย อาเจียน ทานอาหารไม่ได้ แนะนำให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล, แนะนำให้ favipiravir เป็นเวลา 5-10 วัน

เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น หรือไม่มีข้อบ่งชี้ในการนอนโรงพยาบาล สามารถรักษาต่อแบบผู้ป่วยนอก โดยการกักตัวที่บ้านตามคำแนะนำของแพทย์ในระหว่างที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก ขอให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการกักตัวอยู่ที่บ้านตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อป้องกันการกระจายเชื้อ ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจร, Ivermectin, Molnupiravir, และ Paxlovid เพื่อการรักษา COVID-19 ในเด็ก

 

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ SARS Co V-2 ที่มีอาการรุนแรง ได้แก่เด็กที่มีโรคร่วม หรือความผิดปกติ ดังต่อไปนี้

  • โรคอ้วน (น้ำหนักเทียบกับความสูง (weight for height) มากกว่า +3 SD)
  • โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคไตวายเรื้อรัง
  • โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  • โรคเบาหวาน
  • กลุ่มโรคพันธรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง