ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขยะ ATK ทิ้งอย่างไรปลอดภัย ลดแพร่โควิด

สังคม
7 มี.ค. 65
06:47
2,825
Logo Thai PBS
ขยะ ATK ทิ้งอย่างไรปลอดภัย ลดแพร่โควิด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมอนามัย แนะวิธีกำจัดขยะ ATK ทิ้งอย่างไรปลอดภัย ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19

เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2565 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าว กรณีที่มีการนำเสนอข่าวพบมีผู้ทิ้งชุดตรวจ ATK แบบที่ใช้แล้วลงถังขยะทั่วไป โดยไม่มีการผูกมัดถุงขยะให้มิดชิด หรือเขียนป้ายบอกเตือน ทำให้ประชาชนหวั่นเกิดการแพร่เชื้อตามจุดทิ้งขยะต่างๆ นั้น เนื่องจากชุดตรวจ ATK ส่วนที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง น้ำมูก หรือน้ำลาย ที่ใช้ทดสอบ ถือเป็นขยะติดเชื้อ ขอความร่วมมือประชาชนที่ซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อนำมาใช้ตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเอง ไม่ควรทิ้งลงถังขยะทันที ขอให้กำจัดอย่างถูกวิธี หากตรวจแล้วไม่ว่าจะขึ้น 2 ขีด หรือขีดเดียว ควรจัดการเหมือนกัน เพราะอาจเป็น ผลลบปลอม และอาจปนเปื้อนเชื้อโรคอื่น ๆ ด้วย

 

สำหรับวิธีการกำจัดที่ถูกต้อง ควรฉีดพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือราดด้วย ผงฟอกขาว แล้วมัดปากถุงให้แน่น แยกทิ้งกับขยะทั่วไปถ้าทำได้ โดยการทิ้งควรแยกเป็น 2 ส่วน คือ ขยะที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือ สารคัดหลั่ง เช่น เอกสารกำกับชุดตรวจ และกล่องบรรจุภัณฑ์ ให้ทิ้งถังขยะทั่วไปได้

ส่วนขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งที่ใช้ทดสอบ เช่น ตลับหรือแผ่นทดสอบ หลอดใส่น้ำยา ฝาหลอดหยดไม้ Swap ต้องแยกจัดการจากขยะทั่วไป เพราะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อโรคได้

 

ทิ้งชุดตรวจตรวจโควิด อย่างไรปลอดภัย

แนวทางการจัดการ ATK ที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่

1.กรณีในพื้นที่หรือชุมชน มีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อเป็นประจำทุกวัน ใส่ถุงขยะสีแดง 2 ชั้น โดยถุงชั้นแรก มัดปากถุง แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง แล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ ประสานไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการเก็บขนขยะติดเชื้อในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อกำหนดวิธีการนำขยะติดเชื้อไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป

2.กรณีในพื้นที่หรือชุมชนไม่มีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อหรือระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อเข้าไม่ถึง ให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุขยะติดเชื้อแล้วให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ หรือแอลกอฮอล์ 70% ซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้งซึ่งขยะที่ผ่านการทำลายเชื้อแล้ว ให้ประสานและนำส่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นำไปกำจัดเป็นขยะทั่วไป โดยหลังจัดการขยะติดเชื้อแล้วต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ทันที

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

น่าห่วง! ขยะติดเชื้อ ATK ทิ้งเกลื่อนปะปนขยะบ้าน

ขยะติดเชื้อเพิ่ม 294 ตันต่อวันเกินศักยภาพกำจัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง