ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศาลปกครอง กลับคำสั่ง! คพ.จ่ายค่าโง่คลองด่าน 9.6 พันล้าน

สิ่งแวดล้อม
8 มี.ค. 65
12:04
1,070
Logo Thai PBS
ศาลปกครอง กลับคำสั่ง! คพ.จ่ายค่าโง่คลองด่าน 9.6 พันล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับคำสั่งคดีค่าเสียหาย โครงการบ่อน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ของศาลปกคลองกลางที่ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ส่งผล "คพ.-คลัง" ต้องจ่ายเงินกับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี 9,600 ล้านบาท

วันนี้ (8 มี.ค.2565) กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา กลับคำสั่ง และคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้คพ.ต้องจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย ให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี กรณีสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ

เนื่องจากศาลปกครองพิจารณาว่า หลักฐานอันเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอาญาของศาลอาญาที่คพ.กล่าวอ้างเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่ล้วนมีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อนทั้งสิ้น จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ โดยให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ส่งผล "คพ.-คลัง" ต้องจ่ายเงินกับกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี 9,600 ล้านบาท (อ่านคำพิพากษาศาลปกครองฉบับเต็ม)

คพ.ไม่ยอมถอย-ทำหนังสือตามม.75 ยื่นศาลปกครอง

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้สัมภาษ๊ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ทราบคำสั่งศาลปกครองแล้ว แต่ในกระบวนการยังไม่ถอย ได้หารือกับทีมกฎหมายคพ.และดูในข้อเท็จจริงซึ่งเรื่องนี้ ซึ่งในคดีอาญา ศาลตัดสินว่าบริษัทและจำเลย มีความผิด และลงโทษตามกฎหมายไปแล้ว นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างที่ คพ.ฟ้องแพ่งต่อจำเลยทั้งหมด 54,000 ล้านบาท

เราเคารพคำตัดสินของศาลปกครอง แต่จะเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก ถ้ารัฐต้องจ่ายเงินจำนวนมากหลายพันล้านบาท ให้กับผู้ที่ทำผิดคือทั้งบริษัท และจำเลยไม่สมควรที่ได้รับเงิน เพราะมีการตัดสินในคดีอาญาไว้แล้ว 

อธิบดีคพ.กล่าวว่า หลังจากนี้ จะทำขอไปยังศาลปกครอง ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง ยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อชี้ให้เห็นว่าตามที่ศาลอาญา พิพากษาบริษัท และผู้เกี่ยวข้องมีความผิดแล้ว จำเลยได้ถูกลงโทษจึงไม่สมควรได้รับเงิน ทั้งนี้ตามกระบวนการมีเวลา 90 วันแต่ คพ.จะเร่งทำหนังสือให้เร็วที่สุด 

ก่อนหน้านี้ในเดือน ธ.ค.2558 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ระงับการเงินค่าเสียหายให้กับบริษัทเอกชนจำนวน 9,600 ล้านบาทแล้ว หลังจากมีการจ่ายเงินงวดที่หนึ่งไปแล้ว 4,000 ล้านบาท เพราะในกรณีนี้ศาลอาญาได้ตัดสินว่าอดีตอธิบดี คพ.มีความผิดกรณีนำที่ดินสาธารณะมาขายเพื่อก่อสร้างโครงการไปแล้ว รัฐจึงไม่ควรจ่ายเงินค่าเสียหายอีก 

เปิดคำสั่งศาลปกครองคดีคลองด่าน 

เนื่องจากเห็นว่า ในส่วนของกระทรวงการคลัง ไม่ได้เป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีอันมีฐานะเป็นคู่กรณีตามคำพิพากษาศาลปกครอง ตลอดจนมิใช่คู่สัญญาตามสัญญาโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ฝั่งตะวันออกและตะวันตก เลขที่ 75/2540 ลงวันที่ 20 ส.ค.40 และไม่อยู่ในบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ หมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค.2554 และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ย่อมมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีในคดีเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ที่จะมีผลทำให้เป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีดังกล่าวแต่อย่างใด กระทรวงการคลังจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

ส่วนคพ. ศาลปกครองสูงสุด โดยประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 และคำพิพากษาศาลแขวงดุสิต คดีหมายเลขแดงที่ 3501/2552 คพ.ได้เสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาลปกครองมาแต่แรก ในชั้นการพิจารณาคดีครั้งก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคดีของศาลแขวงดุสิต ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดง ที่ 3501/2552 ที่กรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ที่ 1 กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลย ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ในการทำสัญญาโครงการ ย่อมแสดงว่าคพ.ต้องมีพยานหลักฐาน เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างว่าสัญญาเกิดขึ้น จากการร่วมกันทุจริตทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐและกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้องอยู่ก่อนแล้ว แต่ คพ.ไม่นำเสนอเข้ามาในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือในการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง กรณีจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไป

 

 

ส่วนคดีของศาลอาญา ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.4197/2558 ที่คพ.อ้างเอกสารที่ยื่นส่งในชั้นสืบพยาน และอ้างว่าศาลอาญามีคำพิพากษาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคพ. เป็นการกระทำโดยทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนคู่สัญญาว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ประกอบการยื่นขอพิจารณาคดีใหม่นั้น เห็นว่า คำพิพากษาดังกล่าว เป็นการที่ศาลนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงในสำนวนคำพิพากษาดังกล่าว จึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่

ส่วนข้อเท็จจริงในสำนวนคดีดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงสืบเนื่องมาจากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฉบับลงวันที่ 11 เม.ย.55 ซึ่ง คพ.มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการของ คพ.และการเอื้อประโยชน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการคลองด่านอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี จะยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 5 ก.ย.46

และพยานหลักฐานที่ศาลอาญาได้รับไว้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อจัดให้มีการทำสัญญาเลขที่ 75 /2540 ลงวันที่ 20 ส.ค.40  ก็เป็นเอกสารที่มีขึ้นก่อนเริ่มต้นกระบวน การอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นพยานหลักฐานอันสืบเนื่องมาจากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฉบับลงวันที่ 11 เม.ย.55 ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้นในคดีก่อนเช่นกัน

ดังนั้นพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอาญาของศาลอาญาที่คพ.กล่าวอ้างเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่ล้วนมีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อนทั้งสิ้น จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

ส่วนหนังสือที่ปง 015.2/807 ลงวันที่ 16 พ.ค.59 ถึงคพ.ที่แจ้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.148/2559 ลงวันที่ 13 พ.ค.59 อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 2 รายการ พร้อมดอกผล ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่ คพ.ต้องชำระให้แก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจีไว้ชั่วคราว เป็นการกล่าวอ้างถึง การรับฟังข้อเท็จจริง และผลของคำพิพากษาศาลอาญา หมายเลขแดงที่ อ. 4197/2558 เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่านั้น จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้ว เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด

 

และที่อ้างในความไม่ชอบของคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอันมีสาเหตุมาจากการขาดคุณสมบัติเรื่องความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการนั้น เห็นว่าการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี นายเสถียร วงศ์วิเชียร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการท่าเรือกับพวก ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่อนุมัติให้แก้ไขสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการอู่เรือ บริเวณแหลมฉบัง และแจ้งข้อกล่าวหาให้นายเสถียรทราบในระหว่าง

กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการในคดีนี้แต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นคนละมูลเหตุพิพาทกับคดีนี้ และมิใช่คู่กรณีเดียวกัน จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ ที่จะต้องเปิดเผยตามข้อ 12 ของประมวลจริยธรรมอนุญาโต ตุลาการ และไม่ทำให้คุณสมบัติความเป็นกลางของ นายเสถียร ต้องเสียไป ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.

เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า พยานหลักฐานของ คพ.เป็นพยานหลักฐานที่ล้วนมีอยู่ก่อนแล้ว ในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อน และคพ.ได้รู้ถึงพยานหลักฐานดังกล่าวมาก่อนแล้วทั้งสิ้น และไม่ใช่กรณีที่คู่กรณีไม่อาจทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาครั้งที่แล้วมา จึงมิใช่ความผิดของผู้นั้น ตามมาตรา 75 วรรคสอง กรณี จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

และข้อเท็จจริงที่คพ.กล่าวอ้างมิใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) (4) และวรรคสอง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 อันจะเป็นเหตุที่ขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้แล้ว

จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่น และประเด็นระยะเวลาการยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป

อ่านข่าวเพิ่ม จำคุก 20 ปี อดีตอธิบดีคพ.-รองฯ-ผอ.กองฯ คดีเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมาบ่อบำบัดคลองด่าน

ย้อนดคีคลองด่านก่อนพิพากษากลับคำสั่ง 

สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ เป็นผลมาจากก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพ.ย.57 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาให้คพ.ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อร้องเป็นเงิน 4,983 ล้านบาท กับอีก 31,035,780 เหรียญสหรัฐพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 4,424 ล้านบาท และจำนวน 26,434,636 เหรียญสหรัฐ ตามสัญญาโครงการคลองด่าน กับกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ซึ่งประกอบไปด้วย 6 บริษัท คือ บ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บ. นอร์ทเวสท์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บ.ประยูรวิศการช่าง จำกัด บ. สี่แสงการโยธา จำกัด บ.กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด และบ.เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด

จากนั้น คพ.ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอพิจารณาคดีใหม่โดยอ้างพยานหลักฐานใหม่เป็นคำพิพากษาศาลอาญาว่าโครงการดังกล่าวเป็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการทางการเมือง ร่วมกันกับเอกชนที่เอื้อประโยชน์ให้ ซึ่งกันและกัน เพื่อให้ที่ดินของบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ให้ใช้ในการก่อสร้างโครงการและให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการจัดการน้ำเสีย จ.สมุทรปราการ จนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน

ขณะนั้นศาลปกครองกลาง สั่งรับคำขอไว้พิจารณา และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 มี.ค.61 สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ คพ.ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดว่าหลักฐานที่ คพ.อ้างไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ แต่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการแล้ว 

ขณะที่กระทรวงการคลัง อ้างว่าเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งมีส่วนได้เสีย และถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้โดยตรง จึงมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ได้ก็ตามมูลค่าความเสียหายในคดีดังกล่าวที่คพ.ต้องจ่ายตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อปี 2554 จาก 9,600 ล้านบาท 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จำคุก 20 ปี อดีตอธิบดีคพ.-รองฯ-ผอ.กองฯ คดีเอื้อประโยชน์ผู้รับเหมาบ่อบำบัดคลองด่าน

"ศาลปกครองสูงสุด" รับคำอุทธรณ์คดีชดใช้ค่าเสียหายคลองด่าน

สตง.ทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ระงับจ่าย "ค่าโง่คลองด่าน" 9.6 พันล้าน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง