ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สสส.พบหญิงไทยถูกทำร้าย-ละเมิดทางเพศวันละมากกว่า 7 คน

สังคม
8 มี.ค. 65
11:12
1,156
Logo Thai PBS
สสส.พบหญิงไทยถูกทำร้าย-ละเมิดทางเพศวันละมากกว่า 7 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สสส. พบหญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ-กระทำความรุนแรง มากกว่า 7 คน/วัน เข้ารับการบำบัดรักษา-แจ้งความร้องทุกข์ 30,000 คน/ปี สูงติดอันดับโลก

วันนี้ (8 มี.ค.2565) นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผู้หญิงทุกสังคมต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศต่อเนื่อง ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก พบว่า ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน และมีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 คน


ขณะที่รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่า กว่าร้อยละ 87 ของคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน และจากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง และบุคคลในครอบครัวของไทยระดับประเทศ พบความชุกของความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.6 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 42.2 ในปี 2563 โดยประเภทความรุนแรงสูงสุดคือ ความรุนแรงทางด้านจิตใจ คิดเป็นร้อยละ 32.3 รองลงมาคือ ความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 9.9 และความรุนแรงทางเพศร้อยละ 4.5

เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค. สสส.หวังว่า นอกเหนือจากการส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคของสตรีแล้ว ทุกภาคส่วนควรร่วมกันลด และขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว การข่มขืน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ของสหประชาชาติ ที่ระบุให้การขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ทั้งในที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว เป็นเป้าหมายที่ประเทศต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญและทำให้บรรลุเป้าหมาย

และจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ ตกงาน มีภาระหนี้สิน ทำให้เกิดความเครียดสะสม และความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น สสส. ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย จึงเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่แสดงความเห็นร่วมหาทางออกจากปัญหาดังกล่าวร่วมกัน โดยประกาศรับสมัครเยาวชนรุ่นใหม่ และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงปลายเดือน มี.ค.-เม.ย.2565 สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.นับเราด้วยคน.com

ด้าน น.ส.วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ในฐานะแกนนำกลุ่มลูกเหรียง กล่าวว่า เคยเป็นเหยื่อความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัว 4 คนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง โดยผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ต้องเผชิญ 3 ปัญหา ได้แก่ 1.การถูกลิดรอนสิทธิ ถูกจำกัดสิทธิต่างๆ เช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมระดับกลไกของรัฐ หรือระดับการเมืองท้องถิ่น ในการช่วยตัดสินใจ ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ถูกมองว่าควรเป็นเรื่องของผู้ชาย


2.สถานการณ์ COVID-19 ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวสูง การหย่าร้างเพิ่มขึ้น กรณีเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว คนนอกไม่ควรยุ่ง ขณะที่มีผู้หญิงจำนวนมากกล้าหาญไปขอความยุติธรรมจากหน่วยงาน แต่จะถูกบอกว่าให้อดทน

และ 3.การไม่ยอมรับให้ผู้หญิงเป็นผู้นำ ทั้งที่ในพื้นที่ผู้ชายมีจำนวนน้อยลงจากการเสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบ หลบหนีกระบวนการยุติธรรม หรือเจอคดียาเสพติด ทำให้สัดส่วนจำนวนผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย แต่ในระดับการตัดสินใจหรือกลไกต่างๆ กลับให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมเพียงร้อยละ 0.05 สะท้อนการให้โอกาสที่น้อยมาก

น.ส.วรรณกนก ระบุอีกว่า การทำงานจุดประกายสิทธิผู้หญิงในชุมชน กลุ่มลูกเหรียงเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ก่อตั้งมาเข้าปีที่ 20 ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำงานกับผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้นำที่เป็นผู้หญิง และเด็กผู้หญิง เพื่อให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่ดีให้ได้มากที่สุด บนพื้นฐานที่เชื่อว่า เมื่อมีการศึกษาจะมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ปัจจุบันพบสัดส่วนผู้หญิงในระบบการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สูงกว่าผู้ชาย

นอกจากนี้ ได้ทำงานร่วมกับผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงมุสลิม เช่น การเสริมศักยภาพองค์ความรู้ ผลักดันให้เป็นแกนนำ เพื่อไปอยู่ในกลไกต่างๆ สนับสนุนให้ผู้หญิงลงเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และกว่าที่กลุ่มลูกเหรียงจะได้รับการยอมรับในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำงานพิสูจน์ตัวเอง ทำหน้าที่เป็นองค์กรช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงอย่างจริงจังต่อเนื่อง ทำให้ช่วยเหลือได้มากกว่า 60,000 คน มีทั้งเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ผู้หญิงที่หย่าร้าง การส่งเสริมให้มีอาชีพ และการเยียวยาฟื้นฟูผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือความรุนแรงทางเพศ

แต่ละเดือนกลุ่มลูกเหรียงจะมีเคสให้ดูแล ติดตามกว่า 100 คน นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนงานสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัวในพื้นที่ชายแดนใต้ใน จ.ยะลาร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว(สำนัก 4) สสส. อย่างต่อเนื่อง มุ่งเป้าให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มีสุขภาวะที่ดี เปิดโอกาสให้ชุมชนสร้างทีมทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน เสริมพลัง และความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ครอบครัว รวมถึงหนุนเสริมกิจกรรมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะ ตามแนวทางของภารกิจบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อสร้างระบบนิเวศน์รอบตัวเด็กให้เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะ


กลุ่มลูกเหรียงใช้หลัก “ชุมชนนำ” ดึงทุกภาคส่วนในชุมชนเข้ามาเป็นเจ้าของเรื่อง ช่วยกันขับเคลื่อน จนเกิดผลลัพธ์ที่ดีแก่เด็กในพื้นที่ ทั้งเรื่องการสร้างความตระหนักเรื่องการแต่งงานของเด็กหญิง การปกป้องเด็กจากอันตราย การส่งเสริมให้เด็กได้รับวัคซีน การส่งเสริมพัฒนาการเด็กตามช่วงวัย ส่งเสริมการอ่านนิทานเพื่อพัฒนาสมอง และสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว สะท้อนบทบาทการขับเคลื่อนจากพลังสตรีอย่างแท้จริงในพื้นที่ชายแดนใต้

ที่ผ่านมาคนชอบบอกว่าก็มีตัวแทนผู้หญิงแล้ว แต่ในความจริงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เราต้องการมีตัวแทนผู้หญิงในสัดส่วนที่มากขึ้นเพื่อที่จะตัดสินใจร่วมกันได้ โดยเคารพความเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่ใช่เป็นเพียงไม้ประดับ

การทำงานเป็นผู้นำสตรีในพื้นที่เป็นสิ่งที่ยาก กว่าจะพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับได้ ผู้ชายทำงานเพียง 10 ผู้หญิงต้องทำงาน 100-200 จึงทำให้ยอมรับได้โดยไม่มีข้อกังขา ส่วนตัวต้องเผชิญกับการที่ผู้ชายไม่ยอมรับให้เป็นผู้นำ กว่าจะทำให้ยอมรับได้ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี และกว่าจะทำให้ผู้หญิงในพื้นที่มั่นใจในตัวเอง กล้าออกมาส่งเสียง ต้องเข้าไปทำงานร่วมกับเขา 4-5 ปี ซึ่งปัญหาอุปสรรคยังเป็นเรื่องการยึดมั่นในความเชื่อว่า ผู้นำต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น จึงเป็นประเด็นที่จะต้องทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงอีกมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง