ช่วงนี้เราได้เห็นบทบาทของ NATO มากขึ้นจากความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ความเป็นมาของ NATO ต้องย้อนอดีตไปในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เยอรมนีใกล้จะแพ้สงคราม
ช่วงนั้นเกิดการประชุมที่เรียกว่า การประชุมยัลตา ในเดือน ก.พ.1945 เป้าหมายคือสร้างสันติภาพหลังสงคราม เพื่อสถาปนาชาติต่างๆ ในยุโรปที่ถูกทำลายจากสงคราม
ถือเป็นการประชุม Big Three ผู้นำจาก 3 ชาติมหาอำนาจเข้าร่วม อย่าง Winston Churchill นายกฯ ของสหราชอาณาจักร, Franklin Roosevelt ประธานาธิบดีสหรัฐฯ, และ Joseph Stalin ผู้นำสหภาพโซเวียต ทั้งหมดคือผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตร ตอนนั้นสหรัฐ และโซเวียต มีเป้าหมายเดียวกันคือโค่นล้มฮิตเลอร์
หนึ่งในข้อสรุปคือการแบ่งเยอรมนีและเบอร์ลินออกเป็น 4 ส่วน ให้กับประเทศที่ชนะสงคราม มีสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, สหรัฐฯ และโซเวียต รวมถึงให้อิสระทุกประเทศที่นาซีเคยคุม ให้ปกครองแบบประชาธิปไตย
จุดเปลี่ยนระหว่างสหรัฐฯ และโซเวียต เกิดขึ้นเมื่อสหรัฐฯ เปลี่ยนผู้นำเป็นประธานาธิบดี Harry Truman ซึ่งสหรัฐฯ พัฒนาระเบิดปรมาณูได้แล้ว และถือว่าเป็นไพ่สำคัญที่ช่วงชิงความเป็นหนึ่งเหนือโซเวียตได้ พอโซเวียตรู้ว่าสหรัฐฯ พัฒนาอาวุธทำลายล้างสูงสำเร็จ แต่ไม่บอกว่าเป็นอาวุธอะไร เลยทำให้โซเวียตเริ่มไม่ไว้ใจสหรัฐฯ เกิดความระหองระแหงกันในประเทศพันธมิตร
เมื่อสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดที่ญี่ปุ่นจนชนะสงคราม ทั้งโลกได้รู้จักกับระเบิดปรมาณูเป็นครั้งแรก หลายคนก็มองว่าการตัดสินใจทิ้งระเบิดในครั้งนั้น เพราะสหรัฐฯ ต้องการจะจบสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็มีทฤษฎีสมคบคิดว่า การทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ เพื่อต้องการข่มโซเวียต และแสดงความเป็นมหาอำนาจหลังสงครามโลก
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียตแย่ลงเรื่อยๆ โซเวียตขยายอำนาจคอมมิวนิสต์เข้าไปในยุโรปทำตัวเป็นภัยคุกคาม สหรัฐฯ เลยช่วยยุโรปต่อต้านคอมมิวนิสต์ หรือที่เรียกกันว่า Marshall Plan ในขณะที่โซเวียตปล่อยข่าวว่า ยุโรปต้องระวังสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ ตั้งใจจะครอบงำยุโรป ขอให้เชื่อใจโซเวียตแทน
จากความเห็นที่ไม่ตรงกันจึงเกิดการรวมประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส เป็นเยอรมนีตะวันตก ส่วนสหภาพโซเวียตเป็นเยอรมันตะวันออก ในขณะที่มีการสร้างกำแพงเบอร์ลิน แบ่งเมืองหลวงออกเป็นฝั่งตะวันตกที่เป็นของประเทศพันธมิตรประชาธิปไตย และฝั่งตะวันออกที่เป็นประเทศคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียต
บรรยากาศของโลกในช่วงเวลานั้น คือความไม่ไว้ใจกัน ในยุคของสงครามเย็นที่น่าจดจำคือ สนธิสัญญาบรัสเซลที่มีขึ้นในปี 1947 เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อก่อตั้งสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ในปี 1949 แรกเริ่มมี 7 ประเทศร่วมลงนามที่ Washington D.C. คือ สหรัฐฯ แคนาดา โปรตุเกส อิตาลี นอร์เวย์ เดนมาร์ค และไอซ์แลนด์ เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต ในขณะที่โซเวียตรวมรัฐบริวารตั้งกองกำลังจากกติกาสัญญาวอร์ซอ หรือ Warsaw Pact ในปี 1955 เพื่อตอบโต้การที่เยอรมนีตะวันตกเข้าร่วมกับ NATO ซึ่งสัญญายุติลงในปี 1991 ปีที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย
พูดถึงสหภาพโซเวียต เพราะที่มาในการก่อตั้ง NATO ก็มาจากอำนาจคอมมิวนิสต์ที่เรืองอำนาจในสมัยนั้น ถือเป็นชาติแรกในโลกที่มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์
สหภาพโซเวียตก่อตั้งขึ้นในปี 1922 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 จากการยึดอำนาจจากจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 นำการปฏิวัติโดยวลาดิเมียร์ เลนิน ในเดือน ต.ค.1917 เรียกว่าการปฏิวัติรัสเซีย ระบบกษัตริย์ถูกยกเลิก ราชวงศ์โรมานอฟถูกสังหารทั้งครอบครัว
สหภาพโซเวียตเกิดจากการรวมกันของสาธารณรัฐรัสเซีย ทรานส์คอเคซัส เบียโลรัสเซีย และยูเครน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โซเวียตขยายอิทธิพลคอมมิวนิสต์เข้าไปในประเทศที่โซเวียตยึดครองจากนาซี ก่อนที่โซเวียตจะล่มสลายในปี 1991 ทำให้มีประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตแยกตัวออกมาทั้งหมด 15 ประเทศ คือ รัสเซีย ยูเครน อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน เบลารุส อาเซอร์ไบจาน
หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย บางประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต เข้าร่วมกับ NATO ซึ่งก็คือประเทศกลุ่มทะเลบอลติกอย่าง เอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลัตเวีย เพื่อเลี่ยงอิทธิพลของรัสเซีย ส่งผลให้รัสเซียไม่พอใจอย่างมาก
ตัดภาพมาปัจจุบัน รัสเซียไม่พอใจที่ยูเครนยืนยันจะเป็นสมาชิกของ NATO และ NATO ก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพียงแต่ไม่ยืนยันว่าจะให้ยูเครนเข้าร่วมเมื่อไร รัสเซียยื่นคำขาดว่า NATO จะต้องไม่ขยายเพิ่มไปทางฝั่งตะวันออกอีก และต้องสัญญาว่าจะไม่มีทางรับยูเครนเป็นสมาชิก เพราะถ้าทำเช่นนั้นคือการนำกองกำลัง NATO ที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำ จ่อไปถึงประตูบ้านของรัสเซีย ซึ่งขัดกับคำมั่นที่เคยให้ไว้
ถ้าดูจากในแผนที่จะเห็นว่ามีกองกำลัง NATO ประจำการอยู่ในกลุ่มประเทศบอลติก อย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ 4,000 นาย รวมถึงรถถัง กำลังทางอากาศ หน่วยข่าวกรอง และหน่วยลาดตระเวน
นอกจากนั้นยังมีกองกำลัง NATO ในโรมาเนีย 4,000 นาย ในคอซอวอ 3,500 นาย และ NATO ยังมีภารกิจกองทัพเรือคอยตรวจตราในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คอยเตือนภัยชาติพันธมิตร
และถ้าไปดูกองกำลังสหรัฐฯ ประจำการในโปแลนด์ 4,500 นาย ในตุรกี 1,600 นาย ในอิตาลี 12,000 นาย ในเยอรมนี 36,000 นาย ในสหราชอาณาจักร 9,000 นาย ในสเปน 3,000 นาย
และถ้าเทียบขุมกำลังทั้งหมดของสองประเทศคู่ขัดแย้ง ยูเครนและรัสเซีย ถ้าดูจากภาก็จะเห็นว่ารัสเซียมีกองกำลังมากกว่า ทั้งกำลังพล อาวุธ กำลังทางอากาศ และทางบก
สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลกันมากไปกว่านั้น คือเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ ถ้านับจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ทั้งหมดทั้งที่พร้อมใช้การ และที่ปลดระวางแล้ว รัสเซียก็ถือเป็นประเทศที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก
อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต๊อกโฮล์ม ปี 2021 รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้การ 1,625 ลูก และหัวรบที่ปลดระวางแล้ว 4,630 ลูก ในขณะที่สหรัฐฯ มีหัวรับนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้การมากกว่ารัสเซีย คือ 1,800 ลูก และที่ปลดระวางแล้ว 3,750 ลูก
เมื่อปูตินสั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซียเตรียมความพร้อมสูงสุด จึงเป็นความกังวลต่อกลุ่มชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ว่าการบุกยูเครนอาจจะบานปลาย ถ้าปูตินสั่งกดปุ่มนิวเคลียร์