ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คนเลี้ยงช้าง "ห้วยผักกูด" หวังฟื้นท่องเที่ยวชุมชน ช้าง และคนไม่ตกงาน

ภูมิภาค
12 มี.ค. 65
10:40
578
Logo Thai PBS
คนเลี้ยงช้าง "ห้วยผักกูด" หวังฟื้นท่องเที่ยวชุมชน ช้าง และคนไม่ตกงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชาวบ้านห้วยผักกูด อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ คาดหวังว่าหลังโควิด19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น การท่องเที่ยวชุมชนจะฟื้นตัวเพื่อให้ช้างตกงานกว่า 50 เชือก กลับมามีงานทำอีกครั้ง

แม้กิจกรรมนั่งหลังช้าง หรือ การแสดงช้างจะเป็นรูปแบบปกติของปางช้างทั่วไป แต่สำหรับโฮมสเตย์บ้านห้วยผักกูด ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชาวปกาเกอะญอที่เลี้ยงช้างมากว่า 200 ปี กลับเน้นให้นักท่องเที่ยวสังเกตพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง และเรียนรู้วิถีชีวิต คน กับ ช้าง

หลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ บ้านห้วยผักกูด ก็กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายของนักท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีรายได้มาแล้วกว่า 2 เดือน

 

โจนาธาน แบลคริช นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบอกว่า มีความสุขที่ได้เห็นช้างใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ เพราะช้างจะไม่เครียด ส่วนการป้อนกล้วยให้กับช้างก่อนที่จะให้คนขึ้นขี่พวกมันซ้ำๆ ตลอดทั้งวัน ทุกวัน เชื่อว่าไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของช้าง

 

สาธิต ตราชูความดี ประธานมูลนิธิชุมชนเลี้ยงช้างห้วยผักกูด เล่าว่า ในอดีตชาวบ้านเลี้ยงช้างไว้สำหรับต่างพืชผลทางเกงงการเกษตร ต่อมาก็เริ่มทำงานในกิจการทำไม้

แต่ภายหลังช้างในหมู่บ้านเกือบทั้งหมดก็ออกไปทำงานตามปางช้างต่างๆ แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด ปางช้างปิดตัวช้างกว่า 50 เชือกจึงต้องเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร เพื่อกลับภูมิลำเนาเมื่อต้นปีก่อน

 

แต่เพราะช้างแต่ละตัว กินอาหารวันละกว่า 200 กิโลกรัม ชาวบ้าน และ หน่วยงานท้องถิ่น ต้องสร้างแหล่งอาหารในพื้นที่ เสริมด้วยอาหารจากป่าชุมชนเนื้อที่กว่า 4 พันไร่ แต่ในฤดูแล้ง

นอกจากอาหารจะหายากขึ้น ยังต้องระวังไฟป่า ชาวบ้านต้องช่วยกันทำแนวกันไฟรอบพื้นที่ เพราะช้างเป็นสัตว์ที่กลัวไฟ หากมีไฟป่าก็อาจตื่นกลัว และ หลบหนีภัยออกจากพื้นที่

 

สาธิตบอกว่าปัจจุบันช้าง 8 เชือก ในหมู่บ้านเริ่มกลับมารับนักท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี รายได้ ณ ปัจจุบัน แม้ไม่สามารถเลี้ยงช้างในหมู่บ้านได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็จุนเจือได้เยอะพอสมควร และหวังว่า สักวันหนึ่งการท่องเที่ยวจะกลับไปเป็นเหมือนปกติ แต่สิ่งที่คาดหวังสูงสุดคือช้างห้วยผักกูดไม่ต้องออกจากหมู่บ้าน

 

หากการท่องเที่ยวชุมชนเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับ ช้างทุกเชือกมีงานทำ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ไม่ใช่เฉพาะเจ้าของช้าง แต่ยังการกระจายแก่ชาวบ้านทุกๆคนในชุมชนอย่างทั่วถึง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง