เตือน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระวังน้ำหนุนสูง

ภูมิภาค
1 ก.ย. 54
02:04
10
Logo Thai PBS
เตือน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระวังน้ำหนุนสูง

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตือนประชาชน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา เตรียมการรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะ 2-3 วันนี้ ด้านที่ประชุมสภาฯ เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาและศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม ขณะที่ภาคประชาชนใน 7 จังหวัดลุ่มน้ำยม เสนอให้สร้างเขื่อนขนาดใหญ่รองรับน้ำ

เครือข่ายประชาชนและหน่วยงานราชการใน 7 จังหวัดลุ่มแม่น้ำยม ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดพะเยา, จังหวัดแพร่, จังหวัดสุโขทัย, จังหวัดพิษณุโลก, จังหวัดอุตรดิตถ์, จังหวัดพิจิตร และจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมเสวนาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับน้ำท่วม โดยที่ประชุมมีความเห็นตรงกันใน 4 แนวทางคือ สนับสนุนให้ก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำ, พัฒนาแก้มลิงในจังหวัดสุโขทัย, ปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติและการลอกแม่น้ำยม และการผันน้ำไม่ให้กระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจ
 
ขณะที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตติเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดย ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และ ส.ส. ฝ่ายค้าน เห็นตรงกันที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาและแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเสนอให้มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการให้ชัดเจน และขอให้มีการเสนอแผนงานให้กับ ส.ส.ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะมีการประชุมสภาครั้งต่อไป เพื่อให้สมาชิกศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน
 
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเปิดเผยว่า จากการที่ได้ประสานข้อมูลกับกรมชลประทาน ทราบว่า ในระยะ 2-3 วันข้างหน้า ปริมาณน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์จะอยู่ในเกณฑ์สูง ส่งผลให้พื้นที่ลุ่ม บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในจังหวัดชัยนาท, จังหวัดสิงห์บุรี, จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 50-70 เซนติเมตร จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเตรียมการป้องกันภาวะน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะเกษตรกรให้เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนวันที่ 10 ก.ย.นี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
 
ด้านศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) สรุปสถานการณ์เบื้องต้น ยังมีจังหวัดที่เผชิญสถานการณ์อยู่อีก 11 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตแล้ว 55 ราย สูญหาย 1 คน ภาคเกษตรกรรมได้รับความเสียหายทั้งพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์ รวมถึงเส้นทางคมนาคมบนทางหลวงได้รับความเสียหาย ไม่สามารถสัญจรได้ เส้นทางทางหลวงชนบทเสียหาย 19 สาย
 
เบื้องต้นมีรายงานว่า ทางภาคเหนือและภาคกลางยังมีสถานการณ์อยู่ใน 7 จังหวัด เช่น ที่ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ครูและนักเรียนโรงเรียนวัดปลวกง่ามต้องช่วยกันทำความสะอาดอาคารเรียน หลังน้ำป่าจากเทือกเขาทุ่งแสลงหลวงไหลเข้าท่วมลดลง แต่พบว่าอุปกรณ์การเรียนการสอนบางส่วนเสียหาย ส่วนน้ำที่ท่วมในอำเภอบางระกำ ยังคงขยายวงกว้าง
 
ที่จังหวัดพิจิตร แม่น้ำยมยังสูงเลยจุดวิกฤติกว่า 1 เมตร และเข้าท่วมย่านเศรษฐกิจในอำเภอโพทะเล ทำให้ชาวบ้านต้องนำกระสอบทรายทำแนวป้องกันน้ำ หลังระดับน้ำยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง
 
ส่วนฝนที่ยังตกต่อเนื่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัดกาฬสินธุ์, จังหวัดยโสธร และจังหวัดอุบลราชธานี ยังไม่คลี่คลาย โดยน้ำจากลำน้ำชียังคงขยายวงกว้างเข้าท่วมพื้นที่เกษตรเสียหายรวมหลายหมื่นไร่ เส้นทางคมนาคมหลายสายถูกน้ำท่วมขังสูง จนหลายหมู่บ้านต้องเร่งเตรียมเรือท้องแบน เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำที่มีแนวโน้มท่วมสูงขึ้นอีก
 
ส่วนที่จังหวัดศรีสะเกษ ฝนที่ตกหนักทำให้ถนนหลายสายในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษถูกน้ำสูงกว่า 50 เซนติเมตร ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องเพิ่มความระมัดระวัง ขณะเดียวกันยังเกิดไฟฟ้าดับในหลายชุมชนเขตรอบอำเภอเมืองศรีสะเกษนานกว่า 5 ชั่วโมง
 
ส่วนในภาคใต้ยังมีสถานการณ์อยู่ใน3 จังหวัด คือ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง