SpaceTai บริษัทสตาร์ตอัปด้านอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศจีน ได้พัฒนาเครื่องยนต์และจรวดที่สามารถผลิตชิ้นส่วนในการผลิตจรวด โดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ (3D Printing) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตลงให้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการผลิตปัจจุบัน และเตรียมจะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์
“มดตัวเล็ก” หรือ xiaoyi ในภาษาจีน เป็นชื่อเรียกของเครื่องยนต์จรวดที่สามารถผลิตชิ้นส่วนที่ใช้กับจรวด โดยใช้เพียงเทคโนโลยีการผลิตแบบ 3 มิติ ซึ่งไม่เพียงช่วยลดต้นทุนในการผลิต แต่วิธีการนี้ ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ ที่นำมาใช้ผลิตในอุตสาหกรรมอวกาศ
แม้ว่า SpaceTai จะเป็นบริษัทที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน แต่มีผลงานการออกแบบและผลิตเครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติ ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าการพัฒนาเครื่องพิมพ์ 3 มิติเพื่อนำไปผลิตตัวจรวดนั้น จะมีประสิทธิภาพและจะสามารถผลิตได้สำเร็จภายใน 3 เดือน พร้อมทั้งได้ตั้งเป้าหมายที่จะส่งจรวดที่ผลิตเองขึ้นสู่วงโคจรภายในปี 2024
เครื่องยนต์จรวดที่ผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะใช้พลังงานจากออกซิเจนเหลวและน้ำมันก๊าดช่วยในการขับเคลื่อน ซึ่งมีประสิทธิภาพเหนือกว่าการใช้วงจรการกำเนิดก๊าซที่ใช้ในอุตสาหกรรมด้านอวกาศ
บริษัทผู้ผลิตคาดว่าการนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ มาใช้งานจะช่วยลดต้นทุนในการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ในการผลิตจรวดให้น้อยลงจากเดิม ซึ่งน่าจะน้อยกว่าถึง 80% แต่สามารถผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่จำเป็นในการผลิตจรวดได้มากถึง 90%
เครื่องยนต์จรวดรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 มีแรงขับอยู่ที่ 20-30 ตันที่ระดับน้ำทะเล โดยที่รุ่นที่ 3 ที่มีชื่อว่า Juyi ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนานั้น จะมีแรงขับอยู่ที่ 200 ตันที่ระดับน้ำทะเล บริษัทผู้ผลิตคาดการณ์ว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านหยวน เพื่อนำไปพัฒนาและวิจัย รวมถึงการตั้งโรงงานแห่งใหม่สำหรับการผลิตเครื่องยนต์จรวด และขยายธุรกิจด้านการพิมพ์ 3 มิติต่อไป
ที่มาข้อมูลและภาพ: asia.nikkei, lowyat.net, pixabay
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech