ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปักหมุด "แม่ฮ่องสอน" ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-โบราณคดี

สิ่งแวดล้อม
21 มี.ค. 65
13:56
741
Logo Thai PBS
ปักหมุด "แม่ฮ่องสอน" ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม-โบราณคดี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รมว.อว. แนะพัฒนาแม่ฮ่องสอนให้เติบโตด้วย “Big perspective” เปิดมุมมองใหม่ที่สร้างสรรค์เชิงกลยุทธ์ สนับสนุนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บอกเล่าเรื่องราวแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ถ้ำผีแมนโลงลงรัก เพิงผาถ้ำลอด พร้อมจัดหลักสูตรการเรียนรู้ให้คนในพื้นที่

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการเรื่อง "แม่ฮ่องสอนโมเดล ภูมิทัศนพิเศษทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ" ที่โรงแรมอิมพีเรียลจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนกล่าวต้อนรับ

รมว.อว. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมนโลงลงรัก ในพื้นที่ ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีเมื่อปี 2553 ต่อมา รศ.รัศมี ชูทรงเดช หัวหน้าโครงการสืบค้นและจัดการมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในอำเภอปาย-ปางมะผ้า-ขุนยวม พร้อมคณะได้เข้ามาศึกษาและขุดค้นแหล่งโบราณคดีอย่างเป็นระบบ พบหลักฐานทางโบราณคดีหลากหลาย ทั้งกระดูกคน โลงไม้ ภาชนะดินเผา ภาชนะไม้ ลูกปัด ไม้ทอผ้า ผ้า เครื่องจักรสาน เครื่องประดับจากโลหะ กระดูกสัตว์

 

ดีเอ็นเอจากถ้ำผีแมนโลงลงรัก ใกล้เคียงกลุ่มชาติพันธุ์

ที่สำคัญคือการพบชิ้นส่วนกระดูกคนบรรจุอยู่ในโลงไม้ที่ปิดฝาสนิท เป็นครั้งแรกของประเทศไทย จำนวนถึง 154 คน ซึ่งช่วยยืนยันข้อสันนิษฐานเก่าที่ว่า โลงไม้มีไว้สำหรับการปลงศพ โดยเป็นสุสานของคนในช่วงสมัย 2,000-1,000 กว่าปีมาแล้ว ผลการตรวจดีเอ็นเอกระดูก พบว่า เป็นเครือญาติกันและเป็นดีเอ็นเอที่พบเปรียบเทียบใกล้เคียงกับดีเอ็นเอของกลุ่มชาติพันธุ์ปัจจุบันที่พูดตระกูลภาษา "ออสโตรเอเชียติก" และ "ไท-กะได" อีกทั้งทราบว่ามีคนเข้ามาใช้พื้นที่สุสานเป็นเวลา 424 ปี

 

พัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน สร้างรายได้ชาวแม่ฮ่องสอน

รมว.อว. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่วิจัยทำให้ได้เห็นโอกาสของการพัฒนาแม่ฮ่องสอนมากมาย แต่อยากให้เสริมเรื่อง “Big Perspective” ระบบความคิดที่ยิ่งใหญ่ เปลี่ยนมุมมองใหม่ที่สร้างสรรค์เชิงกลยุทธ์ จากเดิมที่คิดว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนโดดเดี่ยวและเข้าถึงยาก ให้มองเป็นเรื่องดีที่จะทำให้รักษาของเดิมไว้ได้ ภูมิใจในบรรพชนและอารยธรรมของแม่ฮ่องสอนที่จังหวัดอื่นไม่มี

 

งานวิจัยนี้อยู่ในระดับนำหน้าของอาเซียนและท็อปลีกของเอเชีย มีประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ สิ่งชี้วัดคือคนในพื้นที่จะตอบสนองได้ดีเพียงใด การพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านมามักฝากความหวังไว้ที่ส่วนกลาง แต่สำคัญที่สุดอยู่ที่พื้นที่จะต้องพัฒนาคนให้มากขึ้น ภูมิใจในเอกลักษณ์ ความหลากหลาย และมรดกวัฒนธรรมที่มีอยู่


การทำงานให้ได้ดีต้องสั่งสมและเผยแพร่ Big Perspective ให้ไปถึงชาวบ้าน ทำอย่างไรจึงจะมีการท่องเที่ยวแบบไฮโซ ดึงคนที่มีความรู้ รสนิยมสูง รายได้สูง เข้ามาท่องเที่ยวในแม่ฮ่องสอน

นอกจากนี้ แนะนำผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้รีบจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการศึกษานอกห้องเรียนที่สนุก และให้คนแม่ฮ่องสอนได้เรียนรู้มากที่สุด รวมถึงฝากให้นักวิจัยไปต่อยอดงานวิจัยโดยใช้มุมมองใหม่ที่สร้างสรรค์ในการรักษาความหลากหลายของแม่ฮ่องสอน เพื่อสร้างความร่ำรวยด้านการท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด

เล็งพัฒนา "ดิจิทัลมิวเซียม"

ขณะที่ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า แม่ฮ่องสอน ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ ทรัพยากรธรรมชาติแบบหินปูน ซึ่งมีมูลค่าสูง ทำให้จังหวัดมีวัฒนธรรมเฉพาะ จากการค้นคว้าความรู้ สะท้อนว่าแม่ฮ่องสอนไม่ใช่ชายแดน แต่เป็นจุดผ่านสำคัญของการเคลื่อนย้ายประชากรในอดีตหลักหมื่นปี รวมทั้งเกี่ยวข้องเศรษฐกิจระดับโลก การค้าไม้โบราณไปยังยุโรป เป็นจุดเริ่มต้นการค้นพบมนุษย์สมัยใหม่ หรือมนุษย์แรกเริ่ม และเป็นแกนวัฒนธรรมโลงไม้

 

ศ.ดร.รัศมี ต้องการให้เกิดการใช้งานวิจัยเชิงบูรณาการ และทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอเกี่ยวกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การสนับสนุน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ และการให้ทุนนักศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นนักวิจัยกลับมาพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งยังหวังให้มีการพัฒนาดิจิทัลมิวเซียม เพราะงานวิจัยจะช่วยทำเข้าใจประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมากขึ้น

แม่ฮ่องสอนมีความร่ำรวยทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ

 

จากงานวิจัยสู่ "วิชาท้องถิ่นแม่ฮ่องสอน"

ดร.โยธิน บุญเฉลย วิทยาลัยชุมชน จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวถึงการใช้ประโยชน์งานวิจัยในเชิงพื้นที่ ว่า ต้องนำงานวิจัยที่ลึกและซับซ้อนไปสู่การเรียนการสอน คิดว่างานวิจัยนี้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อยากเสนอให้ขยายองค์ความรู้สู่ผู้สอน พัฒนาสื่อ ชุดการเรียนรู้ และการเรียนรู้ในวิชาท้องถิ่น ทั้งในระดับโรงเรียนและระดับอุดมศึกษา

ขณะที่ รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า สกสว.มุ่งเน้นสนับสนุนเรื่องการศึกษาเชิงพื้นที่ การเรียนรู้ของคนในพื้นที่ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ของคนในพื้นที่ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง รวมถึงการท่องเที่ยวที่มีโอกาสและเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนในพื้นที่ โดยออกแบบให้พิเศษและแตกต่างเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของโลก นอกจากนี้ยังต้องต่อยอดชุดความรู้ด้านเกษตรในพื้นที่ ความมั่นคงอาหาร โดยเชื่อมโยงกับมิติอื่น ๆ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงต้องช่วยกันออกแบบและขับเคลื่อนร่วมกับอุดมศึกษา วิทยาลัยชุมชน และมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง