ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศอ.บต.ชงกรมอุทยานฯ ปลด "นกกรงหัวจุก" พ้นบัญชีสัตว์สงวน

สิ่งแวดล้อม
25 มี.ค. 65
18:59
2,075
Logo Thai PBS
ศอ.บต.ชงกรมอุทยานฯ ปลด "นกกรงหัวจุก" พ้นบัญชีสัตว์สงวน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศอ.บต.เตรียมเสนอให้กรมอุทยานฯ ปลด “นกกรงหัวจุก” ออกจากบัญชีสัตว์สงวน เตรียมชูเป็นสัตว์เศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนใต้ หลังพบปี 2546 มีการแจ้งครอบครองกว่า 90,000 ตัว ด้านแหล่งข่าวกรมอุทยานฯ ระบุต้องพิจารณารอบด้าน ยังพบปัญหาลอบจับจากธรรมชาติ

วันนี้ (25 มี.ค.2565) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ ที่ต้องการให้ปลด “นกกรงหัวจุก” ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองในพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เนื่องจากปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงจำนวนมาก อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ และอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาลด้วย ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอเรื่องให้กรมอุทยานฯ รับฟังความเห็นของประชาชนและศึกษาสถานการณ์จำนวนนกกรงหัวจุก เพื่อพิจารณาการถอดถอนออกจากบัญชีสัตว์สงวน

กรณีคล้ายๆ กับนกเขาชวา ที่ได้ถูกถอดออกจากบัญชีสัตว์สงวน เมื่อพบว่ามีจำนวนมากในธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงในกรงมีศักยภาพมากขึ้น ทำให้นกเขาชวากลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้

ในอดีตมีความกังวลถึงการสูญพันธุ์ ของนกกรงหัวจุก จึงได้กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เกระทั่งเปิดให้มีการแจ้งการครอบครองปี 2546 มีผู้มาแจ้งจำนวนกว่า 90,000 ตัว ปัจจุบันนกรงหัวจุกที่ประชาชนเลี้ยง และมีการขยายพันธุ์เอง คาดว่ามีหลายแสนตัว

 

โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สร้างรายได้ทั้งคนเลี้ยงและกลุ่มชุมชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น กรง อาหารสัตว์ ถ้วยเซรามิกใส่น้ำ

นอกจากนี้การเลี้ยงนกกรงหัวจุกยังเป็นทั้งวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ท้องถิ่น ทั้งเพื่อความเพลิดเพลินหรือส่งประกวด ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นิยมของทุกเพศทุกวัย สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มคน และช่วยให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติด เพราะคนเลี้ยงต้องใส่ใจดูแล และฝึกนกร้องเพื่อไปแข่งขัน

การปลดนำกรงหัวจุก ต้องคำนึงปัจจัยไม่เสี่ยงสูญพันธุ์ 

แหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานจาก ศอ.บต.ในประเด็นขอให้พิจารณาเรื่องปลดนำกรงหัวจุก แต่โดยหลักการ หากจะพิจารณาปลดสัตว์ป่าชนิดใดออกจากบัญชีคุ้มครอง ต้องมีการศึกษาทั้งเรื่องประชากร ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในธรรมชาติ และรายละเอียดอื่นๆ ตามความเหมาะสมของชนิดพันธุ์นั้นๆ 

แหล่งข่าว ระบุว่าที่ผ่านมากรมอุทยานฯ จับยึดผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกอยู่บ่อยๆ เพราะส่วนใหญ่ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการการเพาะขยายพันธุ์ และมีการลอบจับพ่อแม่พันธุ์ จากธรรมชาติ ทั้งนี้แม้ว่าจะการกล่าวอ้างว่า มีการเพาะเลี้ยงแข่งขันเพื่อฟังเสียง แต่ก็ต้องพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน

ตามขั้นตอนการจะปลดสัตว์ชนิดไหนออกจากบัญชีสัตว์คุ้มครอง ต้องนำเ้ข้าคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งกว่าจะถึงขั้นตอนนี้ต้องมีการศึกษาประชากรในธรรมชาติ พิจารณาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความเสี่ยงสูญพันธุ์ตามธรรมชาติ

สำหรับนกกรงหัวจุก หรือนกปรอดหัวโขน หรือ นกปรอดหัวจุก ชื่อวิทยาศาสตร์ Pycnonotus jocosus เป็นนกที่อยู่ในวงศ์นกปรอด มีทั้งหมดอยู่ด้วยกันทั้งหมด 109 ชนิด ในไทยพบได้ 36 ชนิด

นกปรอดหัวโขนเป็นนกขนาดเล็ก ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร ที่มีสีสันสวยงาม และเสียงร้องไพเราะ ที่แก้มและคอจนถึงหน้าอกจะมีสีขาวและมีสีแดง เป็นเส้นอยู่ข้างหูลงมาถึงหน้าอกเหมือนเป็นเส้นแบ่งขนสีขาวกับสีดำที่มีอยู่ทั่วทั้งตัวขนส่วนหัวจะร่วมกัน เป็นเหมือนหน่อตั้งอยู่บนหัวสูงขึ้นไปเหมือนหัวโขน เป็นที่มาของชื่อ ใต้ท้องมีขนสีขาว

พบกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงเอเชียตะวันออก พบได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ตั้งแต่ยอดเขาสูง ป่าที่ราบต่ำ จนถึงทุ่งหญ้า ชายป่า และเขตที่ใกล้กับชุมนุมมนุษย์ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยึด "นกปรอดหัวโขน" 1,700 ตัว ลอบนำเข้าชายแดนไทย-ลาว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง