ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จักโรค "Alopecia areata" ผมร่วงเป็นหย่อม

สังคม
28 มี.ค. 65
17:22
897
Logo Thai PBS
รู้จักโรค "Alopecia areata" ผมร่วงเป็นหย่อม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทำความรู้จักโรค Alopecia areata ผมร่วงเป็นหย่อม ที่ทำให้ภรรยาของวิลล์ สมิธ ตัดสินใจโกนผม จนนำมาสู่การพูดล้อเลียนบนเวทีออสการ์และสร้างความไม่พอใจให้กับนักแสดงชื่อดัง

เหตุการณ์ที่สร้างความตกตะลึงและสะเทือนเวทีออสการ์ ครั้งที่ 94 เมื่อวิลล์ สมิธ นักแสดงฮอลลีวูดชื่อดัง เดินขึ้นไปตบหน้าคริส ร็อก ที่กำลังทำหน้าที่พิธีกรอยู่บนเวที หลังจากเขาเล่นมุกล้อเลียนทรงผมของเจดา พิงเก็ตต์ สมิธ ภรรยาของวิลล์ สมิธ ที่ประสบปัญหาโรคผมร่วงเป็นหย่อมและตัดสินใจโกนผมของตัวเอง ซึ่งเธอได้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ด้วยตัวเองและเผชิญกับโรคนี้มานานหลายปี

สำหรับ "โรคผมร่วงเป็นหย่อม" ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560 ได้กล่าวถึงโรคนี้ ว่า เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการผมร่วงเป็นหย่อมอย่างเฉียบพลัน บางครั้งอาจเกิดขึ้นกับเส้นขนในบริเวณอื่นของร่างกายได้ เช่น คิ้ว หนวด

โรคนี้เกิดจากการอักเสบภายใต้หนังศีรษะ การอักเสบนี้ไม่ได้ทำลายรูขุมขนอย่างถาวร ดังนั้นหลังโรคสงบลง ผมหรือเส้นขนจะสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ โรคนี้สามารถแบ่งตามตำแหน่งและความรุนแรง ได้ดังนี้

  • Alopecia areata (AA) : มีผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงที่คิ้ว หนวดขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว
  • Alopecia totalis (AT) : ผมที่ศีรษะร่วงทั้งหมด
  • Alopecia universalis (AU) : ผมที่ศีรษะ และขนที่ตัว เช่น ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ร่วงทั้งหมด

โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มีผลกระทบต่อความสวยงามค่อนข้างมาก จึงอาจทำให้มีผลกระทบทางด้านจิตใจได้ โดยเฉพาะใน Alopecia universalis ซึ่งมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด และมักตอบสนองต่อการรักษาต่างๆ น้อยที่สุด

ใครบ้างที่จะเป็นโรคนี้?

เกิดได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิงเท่าๆ กัน อายุเฉลี่ยคือประมาณ 30 ปี แต่อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถเกิดขึ้นที่ช่วงอายุใดก็ได้ อุบัติการณ์ที่เกิด เฉลี่ยคือ 1 ใน 1,000 คน หรือประมาณ 2%

ลักษณะทางคลินิกของโรค?

ผู้ป่วยจะมีผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะกลม ขอบเขตชัดเจน อาจเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง โดยมากมักเกิดภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการใดๆ แต่อาจมีอาการคันหรือแสบนำมาก่อนในบริเวณที่จะเกิดโรค

โรคนี้มักเกิดที่บริเวณศีรษะ แต่สามารถเกิดที่ตำแหน่งอื่นๆ ในร่างกายที่มีขนได้ (ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนรักแร้ หรือ ขนหัวหน่าว) อาจพบผมหักเป็นตอสั้นๆ ติดหนังศีรษะได้ในบริเวณขอบของรอยโรคที่กำลังจะขยาย เนื่องจากเส้นผมที่สร้างขึ้นใหม่เปราะและผิดปกติ

โรคนี้อาจเกิดแบบเฉียบพลัน หรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ ผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย โดยอาการที่เล็บอาจเกิดนำมาก่อน เกิดพร้อมกัน หรือเกิดภายหลังจากภาวะผมร่วงได้ ความผิดปกติของเล็บที่พบได้บ่อยที่สุด คือการพบหลุมเล็กๆ บนผิวของแผ่นเล็บ

สาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อม?

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทราบเพียงแต่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานผิดปกติมาทำลายรูขุมขน อย่างไรก็ตามหากโรคสงบลงแล้ว รูขุมขนยังสามารถกลับมาสร้างเส้นขนได้ใหม่ตามปกติ โรคที่อาจพบร่วมร่วมกับโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้ คือ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ด่างขาว หรือกลุ่มโรคภูมิแพ้

ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยผมร่วงเป็นหย่อม จะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ได้ ญาติสายตรงที่มีบุคคลในบ้านเป็นโรคนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้มากขึ้นเล็กน้อย

โรคนี้วินิจฉัยได้อย่างไร?

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้ โดยการตรวจลักษณะของผมร่วง ผู้ป่วยบางคนที่มีลักษณะของรอยโรคไม่ชัดเจน หรือสงสัยภาวะอื่นร่วมด้วย แพทย์จะขอตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรค เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคได้

 

อ่านข่าวอื่นๆ

"วิล​ สมิธ" ตบหน้า "คริส ร็อก" บนเวทีออสการ์ หลังล้อเลียนภรรยา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง