นับถอยหลังอีก 2 วันจะถึงวันรับสมัคร ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) เริ่มวันที่ 31 มี.ค. ถึง 4 เม.ย. 2565 ก่อนจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.2565
กรุงเทพมหานคร จะเปิด อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพฯ (ดินแดง) เป็นสถานที่รับสมัคร ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และ ส.ก. เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งในรอบ 9 ปีของคนกรุง หลังเคยใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ครั้งสุดท้ายเมื่อ 3 มี.ค.2556
นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่รายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการด้วย

เปิดศาลาว่าการ กทม. 2 รับสมัคร "ผู้ว่าฯ และ ส.ก."
อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2547 แล้วเสร็จปี 2561 โดยประเดิมห้องประชุมสภา กทม.ใหม่ ด้วยการประชุม สมัยประชุมสามัญสมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562
อาคารหอประชุมสภา กทม. มีทั้งหมด 6 ชั้น ประกอบด้วยชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ซึ่งมีทั้ง ห้องจัดเลี้ยง ห้องประชุม โถงอเนกประสงค์ ห้องประชุมสภา ห้องทำงานประธานสภา ห้องรองประธานสภา กทม. ห้องสังเกตการณ์ สำนักงานเลขานุการสภา กทม.
อาคารไอราวัต ประกอบด้วย อาคารหอประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารกรรมาธิการเหนือ อาคารกรรมาธิการใต้ มีระบบรักษาความปลอดภัยและระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติ โดยใช้บัตรประจำตัวควบคู่กับคีย์การ์ดในการผ่านเข้าออกบริเวณอาคารหอประชุมสภากรุงเทพฯ และบริเวณลานจอดรถ
ภายในอาคารมีระบบอำนวยความสะดวก ทั้ง ลิฟต์ บันไดเลื่อน ระบบอุปกรณ์ในห้องประชุม ได้แก่ ระบบจอภาพขนาดใหญ่ ระบบลงคะแนนผู้ประชุม ระบบบันทึกภาพและเสียงห้องสังเกตการณ์ของนักข่าวผู้ติดตาม

ตั้งงบ 340 ล้าน จัดเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯ กทม."
ส่วนความคืบพร้อมในการจัดการเลือกตั้งดำเนินการ ไปถึงไหนอย่างไรนั้น
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งว่าได้จัดอบรมผู้เกี่ยวข้องกว่า 170,000 คน ไปแล้ว 6 ครั้ง
สำหรับวันรับสมัคร 31 มี.ค. - 4 เม.ย. 2565 ตั้งแต่ 08.30-16.30 น. ตามขั้นตอนวันแรกผู้ที่ไปถึงก่อนเวลาเปิดรับสมัคร 08.30 น. จะใช้วิธีจับสลาก

ขณะที่ จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ สำรวจข้อมูลถึงวันที่ 22 พ.ค. 2565 มีทั้งสิ้น 4,374,131 คน คาดหวังให้มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 70 ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งก่อนหน้า เมื่อ 3 มี.ค. 2556 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,244,465 คน ใช้สิทธิ 2,715,640 คน คิดเป็นร้อยละ 63.98
การเลือกตั้งครั้งนี้จะใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบ เป็นบัตรลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 1 ใบ และลงคะแนนเลือก ส.ก. 1 ใบ โดยบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบจะมีสีแตกต่างกัน คาดว่าเลือกตั้งครั้งนี้จะใช้งบประมาณกว่า 343 ล้านบาท