วันนี้ (1 เม.ย.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวในวันแรกของการหาเสียงอย่างเป็นทางการของผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร โดยพล.ต.อ.ศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.เปิดปราศรัยครั้งแรกในเขตมีนบุรี ที่นี่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้งใหญ่ แต่ผู้สมัครคนอื่นๆ ก็หวังจะเจาะฐานคะแนนนี้
ทำให้การเมืองกทม.ด้านตะวันออก เข้มข้นไม่แพ้พื้นที่อื่น โดยเฉพาะเขตดอนเมือง ฐานเสียงเดิมของพรรคเพื่อไทย มีนายการุณ โหสกุล เป็น ส.ส. แต่ล่าสุด คาดย้ายไปสนับสนุนพรรคไทยสร้างไทย ที่น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งวันนี้ลงหาเสียงที่ตลาดใหม่ดอนเมือง และชุมชนริมคลองเปรมประชา เน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงพื้นที่เขตบางพลัด พบปะพ่อค้าแม่ค้า และคนเดินตลาด และชุมชน โดยระบุว่า ต้องแก้ปัญหาการเดินทางในตรอกซอกซอย พร้อมแก้ปัญหาการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขของคนในชุมชน
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ควง ผู้สมัคร ส.ก.ในเขตราษฎร์บูรณะและทุ่งครุ ชูนโยบายเปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพ และเปลี่ยนเมือง เน้นปัญหาสิ่งแวดล้อม หากได้รับเลือกจะปรับปรุงสวนสาธารณะที่มีอยู่เดิม และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนฝั่งธนบุรี
อ่านข่าว หาเสียงผู้ว่าฯ กทม. ออนไลน์ พื้นที่ให้แสง-เสี่ยงดับ ชั่วข้ามคืน
"อัศวิน" ชูพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตร.ม.ต่อคน
ส่วนพล.ต.อ.อัศวินที่เคยเป็นผู้ว่าฯ มากว่า 5 ปี บอกว่า จะกลับมาสานงานต่อ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่สีเขียว
มันเพิ่มเป็น 7.34 ตารางเมตรต่อคน ปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะ ริมทางรถไฟฟ้า และประชาชนร่วมมือปลูกไปแล้วประมาณ 1.5 ล้านต้นตั้งใจให้ได้มาตรฐาน WHO ให้ได้ 10 ตารางเมตรต่อคน
โดยตัวเลข 10 ตารางเมตรต่อคน คือ พื้นที่สีเขียวที่อดีตผู้ว่าฯ อัศวิน ประกาศไว้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง ในช่วง 9 ปีที่ว่างเว้นการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.พบว่า พื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นทุกปี จากเดิมเมื่อปี 2556 อยู่ที่ 4.92 ตารางเมตรต่อคน ล่าสุดเพิ่มเป็น 7.34 ตารางเมตรต่อคน
ขณะที่งบประมาณเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตั้งแต่ปี 2558 จนถึง ปัจจุบัน มีทั้งหมด 5 โครงการ เป็นเงินกว่า 220 ล้านบาท สวนสาธารณะที่ใช้งบประมาณสูงสุด คือ สวนสาธารณะสถานีพัฒนาที่ดินกทม. หรือ สวนสาธารณะบางขุนเทียน
ชาวกทม.ต้องการเห็นพื้นที่สีเขียวเพิ่ม
จากชุดข้อมูลนี้ ทำให้ขยับเข้าใกล้เกณฑ์มาตรฐานองค์การอนามัยโลกที่ 9 ตารางเมตรคน มากขึ้น เป้าหมายต่อไปคือ 10 ตารางเมตรคน ตามแผน "มหานครสีเขียว" ตามโครงการ Green Bangkok 2030 แต่ พื้นที่สีเขียวก็ต้องเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ง่าย
ชาวกรุงเทพมหานคร บอกว่า แถวคอนโดมิเนียมที่จะใกล้กับสวนสาธารณะ ไม่ได้มีต้นไม้เยอะขนาดนั้น บางคนอาจจะชอบฟิตเนส แต่ตัวเองชอบพื้นที่ธรรมชาติ ถ้าทุกคนเข้าถึงพื้นที่ได้ง่ายจะดีมากกว่า
ขณะที่อีกคนมองว่า มาใช้พื้นที่สวนสาธาธารณะทั้งที่บ้านอยู่ที่ลาดพร้าวแต่มาที่สวนลุมพินี เพราะ สะดวกกว่า มีปัญหาการเดินทาง หากกลับค่ำจะหารถแท็กซี่ขาออกยาก
นอกจาก พล.ต.อ.อัศวิน ที่พูดเรื่องพื้นที่สีเขียวแล้ว ผู้สมัครอีกหลายคนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ นายสุชัชวีร์ บอกจะเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม
ต้องการให้มีพื้นให้พ่อแม่ เดินเล่นลูกๆ พักผ่อนหย่อนใจแบบพอกเก็ตปาร์ค เราทำได้ครับ
แต่คำถามใหญ่ คือ จะเอาที่ดินจากไหนมาทำสวนสาธารณะดร.เอ้ บอกว่า จะลดภาษีให้เจ้าของที่ดินเอกชนนำมาเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ
อ่านข่าวเพิ่ม รู้จัก ผู้สมัครท้าชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าฯ กทม."
"ชัชชาติ" กับแนวคิดกรุงเทพ 15 นาที
ขณะที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล มีนโยบายจะซื้อหรือเช่าที่ดินเอกชน และใช้มาตราการทางภาษีจูงใจให้เอกชนยอมปล่อยที่ดิน มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ พร้อมการออกข้อบัญญัติกรุงเทพ มหานคร ให้อาคารสร้างใหม่ทุกแห่ง ต้องมีพื้นที่สีเขียวที่ใช้ประโยชน์ได้
เช่นเดียวกับ นายชัชชาติ ก็เน้นการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับภาคเอกชน โดยใช้มาตรการทางภาษีที่ดิน และสาธารณะต้องเดินถึงภายใน 15 นาที
เราตั้งชื่อว่ากรุงเทพ 15 นาที เหมือนกับปารีส 15 นาที แต่เขารวมทุกอย่าง แต่ของเรารวมแค่พื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธาธาณะที่พ่อแม่ลูกมาเดินใช้พื้นที่ได้ เพราะสวนสาธารณะที่ไกลต้องใช้เวลาเดินทาง
ด้านนายสกลธี ภัททิยกุล บอกว่า นอกจากมาตรการทางภาษี จะดูว่ามีที่ดินของ กทม.แปลงใดนำมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะได้บ้าง
ส่วนนโยบาย น.ต.ศิธา ก็คล้ายๆ กับคนอื่นเรื่องมาตรการทางภาษี แต่ที่เพิ่มเติม คือ การให้รางวัลพิเศษในรูปแบบของเหรียญดิจิทัล "Bangkok Coin" สะสมคะแนนแลกรับสิทธิพิเศษจาก กทม.
ทั้งหมดเป็นแนวนโยบายในการหาที่ดิน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ของผู้สมัคร ผู้ว่า กทม.จำนวนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายคน ที่จะทยอยเสนอนโยบายมัดใจชาวกรุง ส่วนผู้มีสิทธิ 4 ล้านกว่าคน จะชอบนโยบายใครมากที่สุดอีก 52 วันรู้กัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“สุชัชวีร์” นำทีมผู้สมัคร ส.ก.ลงตลาดบางปะกอก ฟังปัญหาทางเท้า-น้ำท่วม