ทรงบ้านที่ยกพื้นและหลังคามุงจาก เป็นที่อยู่ซึ่งชาวมานิกลุ่มนี้ได้เข้ามาพักอาศัยหลังเข้ามาตั้งชุมชนที่บ้านวังนา ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล ตามการจัดสรรของทางการก่อนหน้านี้
แต่ล่าสุดกลับพบว่า วิถีชีวิตเช่นนี้ อาจไม่ใช่คำตอบของชาวมานิบางส่วนประมาณ 50 คน ที่ต้องการอพยพลูกหลานออกไปสร้างชุมชนใหม่ตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมภายในป่าที่มีเพียงใบกล้วย ทางปาล์มและใบไม้ชนิดต่าง ๆ ที่วางทับซ้อนกันเป็นเพิงปักอยู่บนดินอย่างเรียบง่าย
พวกเขาเชื่ออยู่อาศัยได้สบายกว่าไม่อึดอัด ใครอยากจะสร้างหรือแยกไปจากครอบครัวเพื่อสร้างที่พักใหม่ก็ทำได้ทันที หรือการจะออกไปหาอาหารก็ทำได้สะดวก ซึ่งต่างจากที่นี่
แม้บางส่วนอยากกลับไปชีวิตแบบดั้งเดิม แต่จากการสังเกตพบว่าชาวมานิอีกหลายคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ก็ปรับตัวและเริ่มเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น สังเกตได้จากการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสารและรับข้อมูลจากทางสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้พวกเขาได้เรียนหนังสือออนไลน์
กรณีที่เกิดขึ้นมีความเห็นจาก นายสมบัติ อักษรนิตย์ ประธานชมรมล่องแก่งวังสายทอง ยอมรับว่า กลุ่มชาติพันธุ์มานิเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชาวบ้านในพื้นที่ ที่ผ่านมาก็ช่วยเหลือดูแลกันตลอด
แต่มองว่าความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาเร็วเกินไปทำให้ชาวมานิหลายคนยังปรับตัวไม่ทันและไม่สะดวกใจที่จะอยู่ ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจและปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
ก่อนหน้านี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กลุ่มชาติพันธุ์มานิอาศัยอยู่เพื่อตั้งหมู่บ้าน เมื่อมีการเคลื่อนย้ายก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องตั้งแบบถาวร
ปัจจุบันใน จ.สตูล มีกลุ่มชาติพันธุ์มานิ กระจายในพื้นที่ 3 อ.คือ อ.มะนัง 36 คน ทุ่งหว้า 37 คน และ อ.ละงู 78 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับสัญชาติไทยแล้ว
ขณะนี้มีหลายองค์กรที่พยายามเข้ามาจัดการสิทธิที่มากกว่าขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับเหมือนประชาชนคนไทยทั่วไป แต่สิ่งที่พวกเขาบางส่วนต้องการสื่อสารในเวลานี้ คือสิทธิต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลง และการปรับตัวอาจต้องเป็น แบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้รู้สึกอึดอัดกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว