วันนี้ (14 เม.ย.2565) กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ว่า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอากาศร้อนหลายพื้นที่ โดยมีอากาศร้อนจัดในภาคเหนือ และภาคกลางบางแห่ง กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน
- ภาคเหนือ อากาศร้อนถึงร้อนจัด ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-28 องศาเซลเซียส สูงสุด 36-40 องศาเซลเซียส
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศร้อน ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส สูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส
- ภาคตะวันออก อากาศร้อน ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส สูงสุด 34-38 องศาเซลเซียส
- ภาคกลาง อากาศร้อนถึงร้อนจัด ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส สูงสุด 38-41 องศาเซลเซียส
- ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส สูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
- ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส สูงสุด 33-36 องศาเซลเซีย
- กทม. - ปริมณฑล อากาศร้อน อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส สูงสุด 34-39 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ ยังออกประกาศฉบับที่ 1 พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 16-18 เม.ย.2565 โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางพื้นที่ แนะเลี่ยงอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่
เตือนอาการป่วยจาก "อากาศร้อนจัด"
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ทำให้สภาพอากาศร้อนจัด แดดแรง อาจเกิดอาการป่วยได้ง่าย พบได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น ผื่น ผดแดด บวมแดด ตะคริวแดด การเกร็งจากแดด
ส่วนอาการที่รุนแรง เช่น เพลียแดด ภาวะขาดน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง และอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันทีหากได้รับความร้อนมากเกินไป และไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี
6 กลุ่มเสี่ยงช่วงอากาศร้อน-แดดแรง
สำหรับการดูแลตนเองในสภาพอากาศร้อน แดดแรง โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจโรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด สวมใส่เสื้อผ้ามีสีอ่อนไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี สวมแว่นกันแดด สวมหมวก กางร่ม ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หากจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้ง หรือกลางแดด ไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจนรู้สึกกระหาย หรือริมฝีปากแห้ง ที่สำคัญให้หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แนะวิธีปฐมพยาบาล
หากพบผู้มีอาการสงสัยว่าเจ็บป่วยจากสภาวะอากาศร้อน ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยรีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้ดื่มน้ำเย็น ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669