ทีมนักวิจัย “Tentrack” ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประสบความสำเร็จ หลังใช้เวลากว่า 2 ปีศึกษาพฤติกรรม อาการ และระยะการเป็นสัดของโคนม หรือวัวนม สร้างและพัฒนาระบบไอโอทีตรวจจับการเป็นสัดของโคนม ด้วยเซ็นเซอร์ที่มีความแม่นยำสูงกว่า 80% รายงานผลผ่านแอปพลิเคชัน “KomilO” (โคมิโล) แจ้งเตือนการเป็นสัดไปที่เกษตรกรแบบเรียลไทม์ ช่วยให้สามารถผสมพันธุ์ได้ทันเวลา แก้ปัญหาโคผสมติดยาก ลดการสูญเสียโอกาสสร้างผลผลิตและลดต้นทุนเลี้ยงโค
รศ.ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ หัวหน้าทีมวิจัย Tentrack และผู้เชี่ยวชาญด้านไอโอที ประจำศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ มจธ. กล่าวว่า แอปพลิเคชัน KomilO และระบบวิเคราะห์การเป็นสัดของโคด้วยเทคโนโลยีไอโอที ถูกวิจัยและสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหา “โคผสมติดยาก” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของฟาร์มโคนม เนื่องจากโคแม่พันธุ์จะไม่ผลิตน้ำนม หากไม่มีการผสมพันธุ์ ตั้งท้องและคลอดลูกโคนม จากการสำรวจในปัจจุบันพบว่า ฟาร์มโคนมไทยส่วนใหญ่สามารถตรวจพบโคที่แสดงอาการเป็นสัดและผสมพันธุ์สำเร็จเพียง 60% เท่านั้น
โดยปกติระยะเป็นสัดของโคจะกินระยะเวลา 28 ชั่วโมง และช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการผสมพันธุ์ คือชั่วโมงที่ 10-20 ซึ่งมักเกิดในช่วงเวลากลางคืน
“ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรไทยใช้การคาดคะเน หรือสังเกต ทำให้มีความคลาดเคลื่อน และเมื่อพลาดระยะเป็นสัดไปแล้ว จะต้องเลี้ยงโคท้องเปล่าและรอต่อไปอีก 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์ ถึงจะเข้าสู่ระยะเป็นสัดรอบใหม่ สิ่งนี้ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนในการเลี้ยงโคเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ได้ผลผลิต”
ทีมวิจัย Tentrack ศึกษาและเก็บข้อมูลพฤติกรรมช่วงก่อน-ระหว่าง-หลังระยะเป็นสัดของโค พบว่า ช่วงที่โคเริ่มเข้าสู่ระยะเป็นสัด โคจะมีพฤติกรรมกระวนกระวาย งุ่นง่าน กินน้อย มีการผงกหัวขึ้น-ลง และเดินเยอะขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จังหวะเริ่มต้นแสดงอาการเป็นสัดอย่างชัดเจนจะเกิดขึ้นตอนที่โคนมเป็นสัดเข้าสู่สภาวะยืนนิ่ง และถูกขึ้นขี่ครั้งแรก
ทีมวิจัยจึงใช้เทคโนโลยีไอโอทีพัฒนาระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของโคนม เพื่อติดที่โคนมแม่พันธุ์ โดยติดเซ็นเซอร์ 2 จุด ซึ่งจุดที่ 1 บริเวณหางของโค เพื่อจับการกระแทกเมื่อมีการถูกขึ้นขี่ และจุดที่ 2 บริเวณหูของโค เพื่อจับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อทำนายสภาวะการเป็นสัดของโคนม เมื่อโคนมแสดงอาการเป็นสัด จะมีการแจ้งเตือนไปที่แอปพลิเคชัน KomilO ซึ่งติดตั้งไว้บนคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือของเกษตรกรทันที ทำให้เกษตรกรสามารถมาผสมเทียมได้ทันเวลา
รศ. ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันฟาร์มโคในประเทศไทยทั้งโคนมและโคเนื้อ ใช้การผสมเทียมเป็นหลัก โดยเกษตรกรจะซื้อน้ำเชื้อโคพ่อพันธุ์มาเก็บไว้ และรอจังหวะเป็นสัดเพื่อผสมเทียม แต่พบว่าเกษตรกรสามารถผสมพันธุ์สำเร็จได้ไม่เกิน 60% หรือล้มเหลวมากกว่า 40% เช่น หากมีโคที่ควรแสดงอาการเป็นสัด 10 ตัว เกษตรกรสามารถตรวจพบและผสมได้มากที่สุดเพียง 6 ตัวเท่านั้น เท่ากับว่าเกษตรกรจะต้องเลี้ยงโคอีก 4 ตัวเป็นโคท้องเปล่า ต่อไปอีก 21 วัน ถึงจะเข้าสู่ระยะติดสัดรอบใหม่ โดยที่ค่าอาหารในการเลี้ยงโค 1 ตัว ประมาณวันละ 200 บาท เท่ากับว่าเกษตรกรจะต้องเสียเงินไปเปล่าๆ 4,200 บาท เพื่อเลี้ยงโคท้องเปล่า 1 ตัว
ระบบตรวจจับสภาวะการเป็นสัดและแอปฯ KomilO จะช่วยลดปัญหา “โคผสมติดยาก” ช่วยให้เกษตรกรพบโคที่พร้อมผสมเทียมในแต่ละรอบแม่นยำเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกมากกว่า 40%
นอกจากนี้ยังลดต้นทุนจากการเลี้ยงโคในแต่ละเดือน ด้วยเงินลงทุนต่ำ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาและสร้างโดยฝีมือทีมวิจัยไทย ซึ่งผลงานวิจัยสำเร็จแล้ว 100% พร้อมที่จะนำไปให้ฟาร์มและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมใช้แล้ว
สร้างระบบตรวจจับสภาวะบาดเจ็บของโค
ขณะเดียวกันทีมวิจัย Tentrack อยู่ระหว่างพัฒนาการตรวจจับสภาวะบาดเจ็บของโค เนื่องจากโคเป็นสัตว์ที่เดินเยอะ ทำให้มักเกิดการบาดเจ็บที่กีบเท้าและเท้า และเป็นโรคปากเท้าเปื่อย โดยทีมวิจัยสร้างระบบตรวจจับแพทเทิร์นการเดินของโค เพื่อค้นหาจังหวะการเดินที่ผิดปกติ และแจ้งเตือนผู้เลี้ยงโคได้ล่วงหน้าตั้งแต่โคเริ่มต้นมีอาการ เพื่อให้รักษาได้ทันเวลา โดยโครงการนี้สำเร็จไปได้กว่า 80% แล้ว คาดว่าเมื่องานวิจัยสำเร็จจะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยดูแลสุขภาพ และลดโรคระบาดในโค ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของไทยได้
สำหรับฟาร์มและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อ ที่สนใจเทคโนโลยีตรวจจับสภาวะการเป็นสัดและแอปพลิเคชัน KomilO สามารถปรึกษาและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี komilocow@gmail.com หรือเพจเฟซบุ๊ก Innovation Experience