ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เจาะกลยุทธ์พรรคใหญ่สู้ศึก ส.ก. ดึงคนเก่าขอคะแนนผู้สูงวัย

การเมือง
15 เม.ย. 65
17:46
343
Logo Thai PBS
เจาะกลยุทธ์พรรคใหญ่สู้ศึก ส.ก. ดึงคนเก่าขอคะแนนผู้สูงวัย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

สนามเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ หลายคนพูดถึง เสียงของคนรุ่นใหม่หรือ First time voter ว่าอาจเป็นตัวแปรสำคัญ แต่หากดูสนามเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่กำหนดลงคะแนนเสียงพร้อมกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาจต้องประเมินในทิศทางตรงกันข้าม

ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า กทม.มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ที่ 4,481,523 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 1,001,781 คน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด ขณะที่ New voter มีเพียง 698,660 คน

คนสูงวัยกลุ่มนี้ผ่านการเลือกตั้งในสนาม กทม. มาแล้วหลายครั้ง ถ้าเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ล่าสุดคือเมื่อ พ.ศ.2556 หรือ 9 ปีที่แล้ว แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภา กทม. (ส.ก.) ยาวนานกว่านั้น คือเมื่อปี พ.ศ.2553 หรือ 12 ปีมาแล้ว

เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของคนวัยนี้ที่จะยึดติดตัวบุคคลที่ตนเองคุ้นเคย หรือรักใครชอบใครก็จะมอบใจให้กับคนนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ยิ่งถ้าคนนั้นยังคงลงพื้นที่ปรากฏตัวให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ก็มีแนวโน้มจะให้ใจไปมากกว่าคนที่ไม่คุ้นเคย

ซึ่งหากผู้สมัคร ส.ก. คนไหนยังสามารถกุมหัวใจของคนวัยนี้ได้ ก็อาจจะมีหวังต่อผลคะแนนได้มากกว่าคนอื่น และยิ่งหากเป็นผู้สมัคร ส.ก.ในนามของพรรคด้วยแล้ว คะแนนที่ได้ครั้งนี้ย่อมมีผลต่อคะแนนของพรรคในอนาคตแน่นอน โดยเฉพาะในสนามการเมืองระดับชาติที่คาดว่าเร็วที่สุดน่าจะปลายปีนี้

และอาจเป็นเพราะเหตุนี้ ทำให้เมื่อดูข้อมูลผู้สมัคร ส.ก.ของหลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะ 4 พรรคใหญ่ที่ส่งผู้สมัคร ส.ก.ลงแข่งครบทั้ง 50 เขต ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ เลือกที่จะส่งคนที่เป็นอดีต ส.ก. หรือ ส.ข. หลายสมัยลงแข่งอีกครั้ง เพราะด้านหนึ่งก็การรันตีว่าเป็นคนที่ชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยในพื้นที่ มีความคุ้นเคยมากกว่าผู้สมัครหน้าใหม่

 

เริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 เกิดปรากฏการณ์ที่แทบจะเรียกได้ว่าสูญพันธ์ใน กทม. หลังไม่มีผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคได้รับเลือกตั้งเลย แต่ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัคร ส.ก. ที่เป็นอดีต ส.ก. หรือ ส.ข. มากที่สุดถึง 24 คน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้แข่งขันทั้งหมด

ในด้านหนึ่งอาจมองได้ว่า การเลือกตั้งสนามท้องถิ่น กทม.ครั้งนี้ เป็นเดิมพันครั้งใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการจะลบคำสบประมาทที่ว่า ประชาธิปัตย์สูญพันธุ์แล้วใน กทม. ขณะที่ทีมยุทธศาสตร์ของพรรคก็ยืนยันว่ามีการเตรียมการสนามนี้มายาวนาน และเชื่อว่าแฟนคลับพรรคสีฟ้าจะหันกลับมาสนับสนุนอีกครั้ง

ต่อมาที่พรรคไทยสร้างไทย ก็ส่งอดีต ส.ก และ ส.ข. ลงสนาม 12 คน ซึ่งแม้จะน้อยกว่าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ทำให้เห็นความมุ่งมั่นของพรรคน้องใหม่ในสนามการเมือง หรืออาจเรียกว่าเป็นความฝันของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรค ที่ต้องการปักธงยึดสนาม กทม. เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติเช่นกัน

ขณะที่อีก 2 พรรคใหญ่ คือ พลังประชารัฐ และเพื่อไทย ที่แม้ไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ส่งผู้สมัคร ส.ก. จัดเต็มทั้ง 50 เขต ที่น่าสนใจคือ แม้ทั้งสองพรรคจะชู “พลังคนรุ่นใหม่” เป็นตัวหลัก แต่ก็ไม่ทิ้งคนเก่าแก่ โดยพรรคพลังประชารัฐได้อดีต ส.ก.และ ส.ข. เข้ามาเสริมทีมสู้ศึก 17 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทย มี 13 คน

ทั้งสองพรรคใหญ่นี้ก็มีเดิมพันสูงเช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยสร้างไทย เพราะถ้ายึดกุมเสียง ส.ก. ได้ ก็พอจะเป็นหลักประกันได้ว่า จะมีฐานที่มั่นในสนามเลือกตั้งใหญ่เช่นเดียวกัน

ส่วนพรรคก้าวไกล ที่ส่งผู้สมัคร ส.ก.ลงเต็มทั้ง 50 เขต แต่มีเพียง 2 คนที่เป็นอดีต ส.ข. ในขณะที่ผู้สมัคร ส.ก.ส่วนใหญ่ของพรรคเป็นคนรุ่นใหม่

แต่ 12 ปีที่การเมืองท้องถิ่นใน กทม.ถูกเว้นวรรค ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองภาพใหญ่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ต้องจับตาว่าในการเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ปัจจัยเหล่านี้จะยังมีผลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งผู้สูงวัยกลุ่มนี้ว่า จะยังคงยึดติดในคนเก่าแก่ที่คุ้นเคย หรือให้โอกาสคนรุ่นใหม่

ข้อมูลการส่งผู้สมัคร ส.ก. 50 เขต รวม 379 คน พรรคประชาธิปัตย์ 50 คน พรรคพลังประชารัฐ 50 คน พรรคเพื่อไทย 50 คน พรรคไทยสร้างไทย 50 คน พรรคก้าวไกล 49 คน พรรครวมไทยยูไนเต็ด 20 คน พรรคกล้า 14 คน พรรคประชากรไทย 10 คน พรรคอนาคตไทย 6 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคเสรีรวมไทย 3 คน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ (ทีมอัศวิน) 38 คน และผู้สมัครอิสระ 35 คน

 

อ่านข่าวอื่นๆ

“สุดารัตน์” ขอโอกาสคนกรุง เชื่อมการเมืองชาติ-กทม.

“สกลธี” ปลื้มสโลแกน “ทำทันธี” คนจำได้ ตอบโจทย์คน กทม.

"อัศวิน" ตั้งเป้าได้ ส.ก.50 เขต เพิ่มเบี้ยประชุม ปธ.-เลขาฯ ชุมชน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง