ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : ประชาธิปัตย์-จบยาก

การเมือง
25 เม.ย. 65
14:40
674
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : ประชาธิปัตย์-จบยาก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

แม้จะแสดงความรับผิดชอบ โดยประกาศลาออกจากประธานกรรมการด้านพัฒนาและส่งเสริมบทบาทสตรีของรัฐบาล 2 ชุด ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคปชป. และให้พรรคตั้งกรรมการตรวจสอบอีก 2 ชุด เพื่อคัดกรองผู้ที่อาสาเข้ามาทำงานให้พรรค และคนนำเรื่องในพรรคไปขยาย

แต่ยังสามารถกลบกระแสความไม่พอใจ เรื่องนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรค ด้านเศรษฐกิจคนรุ่นใหม่ หรือทีมอเวนเจอร์ได้

ยิ่งเฉพาะภายในพรรค กลุ่มส.ส.คลื่นใต้น้ำ ที่มักมีความเห็นต่างและเคลื่อนไหวในทางตรงกันข้ามกับคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันของพรรคเสมอๆ ยังแสดงฤทธิ์เดชทั้งในโลกโซเชียล และในห้องประชุมใหญ่ของพรรค เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทวงถามสปิริตความรับผิดชอบ ทั้งการสนับสนุนให้นายปริญญ์ มีบทบาทและตำแหน่งใหญ่ รวมถึงเรื่องที่ปรึกษารัฐมนตรีพาณิชย์ เปิดประเด็นผ่านไลน์กรุ๊ป เรื่องคนในพรรคและ ส.ส.ของพรรคมีพฤติการณ์ชู้สาว ประพฤติตัวผิดลูกผิดเมียคนอื่น

ก่อนจะมีภาคต่อ ซัดกันนัวเนียนุงนัง ผ่านโลกโซเชียลและให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลักแบบจัดหนัก กล่าวหาเรื่องผิดจริยธรรมร้ายแรง ไม่ใช่เรื่องเห็นต่างทางการเมืองเหมือนเมื่อครั้งเกิด “กบฎ 10 มกราคม” เมื่อปี 2530

หรือ กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทิ้งพรรคปชป.ไปก่อตั้งกลุ่ม กปปส.เคลื่อนไหวไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556

แต่กระนั้น ใช่ว่ากลุ่มที่สนับสนุนนายจุรินทร์จะตกเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างเดียว เพราะในช่วงเจอกับมรสุมหนักหน่วง ก็ยังมีพันธมิตรทั้งจากสื่ออาวุโส อย่างนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ และผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิดา จะออกมาฟันธง เป็นฝีมือของคนในที่เป็นสายตรงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ที่ต้องการดิสเครดิตนายจุรินทร์

คลื่นใต้น้ำกลุ่มนี้ ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักฯ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตโฆษกพรรคและอดีตโฆษกนายกรัฐมนตรี สมัยนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ทั้งหมด รวมถึงนายอันวาร์ สาและ อดีตรองเลขาธิการพรรค

แม้ว่าในวันประชุมพรรค นายอภิสิทธิ์จะเข้าร่วมประชุมผ่านระบบซูม เช่นเดียวกับนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.2 สมัย ซึ่งยังออกแรงลงพื้นที่ช่วย ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ด้วย

ทำให้ข้อครหาการออกมาเคลื่อนไหวกดดันของกลุ่มคลื่นใต้น้ำ เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะผู้บริหารพรรคเป็นชุดใหม่ เพื่อเปิดทางให้นายอภิสิทธิ์ “คัมแบ็ก” จึงยังไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากเต็มคำ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งในค่ายพรรคสีฟ้าแห่งนี้ ยืดเยื้อคาราคาซังมาเนิ่นนาน และนับวันจะยิ่งลากยาวออกไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ต่างฝ่ายต่างพยายามสนับสนุนคนในกลุ่มของตนขึ้นมา มีบทบาททั้งภายในพรรค และในคณะรัฐบาล

เพราะแม้แต่ผู้อาวุโสในพรรค อย่าง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนฯ ปัจจุบัน ยังทำอะไรไม่ได้ เมื่อด้านหนึ่งก็เคยหนุนนายอภิสิทธิ์เต็มตัว ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็ถูกมองว่า เป็นแบ็กอัปให้นายจุรินทร์

คำกล่าวประโยคที่ว่า “เมื่อมีปัญหา ก็อย่าหนีปัญหา” จึงยังไม่มีใครถอดรหัสที่ชัดเจนได้ว่า หมายถึงอะไรกันแน่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง