ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Twitter รับข้อเสนอ "อีลอน มัสก์" เข้าซื้อกิจการ

ต่างประเทศ
26 เม.ย. 65
06:27
580
Logo Thai PBS
Twitter รับข้อเสนอ "อีลอน มัสก์" เข้าซื้อกิจการ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
บริษัททวิตเตอร์ ตอบตกลงรับข้อเสนอข่าวซื้อกิจการของ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยเม็ดเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เตรียมลุ้นผู้ถือหุ้นลงมติ

วันนี้ (26 เม.ย.2565) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า คณะกรรมการบริหารของบริษัททวิตเตอร์ตอบรับข้อเสนอเข้าซื้อกิจการของอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลา สเปซเอกซ์และอีกหลายบริษัท ที่เสนอซื้อกิจการเป็นเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาท

มัสก์ยื่นข้อเสนอนี้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน ซึ่งทวิตเตอร์ปฏิเสธในช่วงแรก แต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเจรจาตกลงกันเรื่องเงินอีกครั้ง โดยขณะนี้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติแล้ว ลำดับต่อไปจะขอให้ผู้ถือหุ้นลงมติ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ไม่น่าจะติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ หากทวิตเตอร์ยอมขายตามราคานี้จริง

ทำไมมัสก์สนใจซื้อทวิตเตอร์ ?

อีลอน มัสก์ เปิดเผยว่า ทวิตเตอร์มีศักยภาพมากมายที่เขาจะเข้าไปปลดล็อก ตั้งเป้าจะเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง รวมทั้งการผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับเนื้อหาภายใน ทั้งที่ปัจจุบันหลายคนอาจจะรู้สึกว่าเนื้อหาในทวิตเตอร์ไม่ค่อยได้รับการควบคุมอยู่แล้ว และเรื่องสำคัญคือการกำจัดบัญชีผู้ใช้ปลอม เพิ่มฟังก์ชั่นต่าง ๆ โดยรวมคือจะทำให้ทวิตเตอร์น่าเชื่อถือมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มัสก์ก็เคยมีวีรกรรมที่ก่อบนทวิตเตอร์ไม่น้อย รวมถึงกรณีที่หาว่า Vernon Unsworth นักดำน้ำชาวอังกฤษที่มาช่วย 12 หมูป่าซึ่งติดในถ้ำขุนน้ำนางนอนเมื่อปี 2562 ว่าเป็นพวกคลั่งเด็ก จนนำไปสู่การฟ้องหมิ่นประมาท แต่มัสก์ชนะคดี ไม่ต้องจ่ายเงินค่าเสียหาย

เศรษฐีกับการลงทุนอวกาศยันสื่อสังคมออนไลน์

ตามการจัดอันดับของ Forbes อีลอน มัสก์ วัย 50 ปี เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 1 ของโลก ทรัพย์สินสุทธิ 268,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 9 ล้านล้านบาท โดยมีการลงทุนตั้งแต่สำรวจอวกาศไปจนถึงสื่อสังคมออนไลน์ ปัจจุบัน มัสก์บริหาร The Boring Company ที่อยู่ระหว่างวางแผนและพัฒนา hyperloop เพื่อปฏิวัติการเดินทางคมนาคม

แม้แต่ชิปที่เชื่อมระบบประสาทและสมอง มัสก์ก็มีบริษัท Neuralink ที่พัฒนาเรื่อง Neurotechnology หรือประสาทเทคโนโลยี หากสำเร็จอาจจะช่วยคนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังหรือสมองและต้องเป็นอัมพาต ให้ใช้ความคิดควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้

การเข้าซื้อทวิตเตอร์ หากอ้างตามคำให้สัมภาษณ์ มัสก์บอกว่าไม่ได้คิดเรื่องกำไร ซึ่งทวิตเตอร์ถึงจะเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่โด่งดัง เปิดให้ใช้งานมานาน 16 ปี แต่ข้อมูลปี 2564 พบว่า ทวิตเตอร์มีรายรับ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 170,000 ล้านกว่าบาท แต่ละวันมีผู้ใช้งาน 217 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้นของผู้ใช้เฟซบุ๊ก

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้ใช้งานราว 1 ใน 10 ของเฟซบุ๊กแต่ทวิตเตอร์ก็ถือว่าทรงอิทธิพล โดยเฉพาะการเป็นสื่อออนไลน์เบื้องหลังความเคลื่อนไหวใหญ่ ๆ ในโลกอย่างอาหรับ สปริง และล่าสุดคือ เหตุบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ 6 ม.ค.2564

ปัจจุบันเหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วที่มหาเศรษฐีระดับโลกจะเข้าซื้อกิจการสื่อใหญ่ ๆ ที่ทรงอิทธิพล ก่อนมัสก์ มีทั้ง Rupert Murdoch ที่เข้าซื้อทั้ง New York Post ปี 1976 และ Wall Street Journal ปี 2007 ล่าสุด ปี 2013 Jeff Bezos เจ้าของแอมะซอนก็ได้เข้าซื้อ Washington Post ด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"อีลอน มัสก์" ยื่นข้อเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ Twitter

Twitter เตรียมทดสอบฟีเจอร์ “แก้ไขข้อความ” หลังทวีตไปแล้ว

จับตา! Twitter พัฒนาฟีเจอร์ “แก้ไขข้อความ” ผู้ใช้อาจดูประวัติแก้ไขได้

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง