จากกรณีกลุ่มอนุรักษ์โพสต์กังวลกรณีคลิปจับปูเสฉวนบกจากธรรมชาติกลับมาเลี้ยงที่บ้าน ขณะที่ยูทูบเบอร์ "อู๋จุน-กร" ปล่อยคลิปขอโทษที่เป็นตัวอย่างไม่ดีให้กับเด็ก และส่งผลกระทบต่อจิตใจกลุ่มอนุรักษ์ สัญญาจะนำกลับไปคืนทะเลครบทุกตัว
(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ยูทูบเบอร์ "อู๋จุน" ขอโทษดรามาจับปูเสฉวนมาเลี้ยง สัญญาส่งคืนทะเล)
วันนี้ (27 เม.ย.2565) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า กรณีที่เกิดขึ้นแม้จะไม่มีโทษจากกฎหมายคุ้มครองปูเสฉวนโดยตรง แต่หากจับในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
อย่างไรก็ตาม ดร.ธรณ์ มองว่า การกำหนดโทษตามกฎหมายกับสัตว์ทะเลทุกชนิด โดยเฉพาะปูชนิดต่าง ๆ อาจเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากคอยเฝ้าดูแลทุกตัว ทุกชายหาดคงจะทำไม่ได้ ดังนั้นทางออกที่ง่ายที่สุดคือ การไม่จับปู โดยไม่ต้องรอกฎหมายใดมาควบคุม สิ่งสำคัญคือจิตสำนึก ซึ่งพ่อแม่และผู้ปกครองควรแนะนำลูกหลานตั้งแต่ยังเด็ก
เราต้องมีจิตสำคัญ อย่าจับมันมาเล่น เพราะเลี้ยงในห้องพักแค่ 1 คืน มันก็ตายแล้ว เนื่องจากปูเป็นสิ่งมีชีวิตที่บอบบาง พ่อแม่ก็ช่วยบอก สิ่งมีชีวิตไม่ใช่ของเล่น ไปจับมันเพราะคำว่า น่ารัก มันสมควรไหม
ถ้าทะเลไทยไม่มี "ปูเสฉวน"
ดร.ธรณ์ ระบุอีกว่า สำหรับสถานการณ์ปูเสฉวนปัจจุบัน ในเขตอุทยานฯ ยังมีจำนวนปูเสฉวนอยู่พอสมควร โดยเฉพาะในแถบ จ.ตรัง แต่นอกเขตอุทยานฯ ต้องยอมรับว่า ปูเสฉวนลดน้อยลงพอสมควร โดยมีปัจจัยหลักจากการจับปูมาเลี้ยงหรือจับมาขาย
ปัจจัยอีกส่วนคือ ธรรมชาติทรุดโทรม มลพิษเพิ่มขึ้น น้ำเสีย ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง สร้างเขื่อนกันคลื่น หรืออื่น ๆ ที่ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย ที่อยู่ปูถูกทำลาย สิ่งแวดล้อมแย่ ปูก็หายไปเช่นกัน
ทั้งนี้ ปูเสฉวนเป็นสัตว์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ หากปูเสฉวนหายไปสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ก็จะหายไปด้วย และจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร เพราะปูเสฉวนเป็นสัตว์พื้นฐานของระบบนิเวศในแง่ผู้กำจัดซากเน่าเปื่อย แบคทีเรีย และเชื้อโรคตามชายหาด
ในอดีตปูเสฉวนเป็นสิ่งมีชีวิตหลักในหลายชายหาด ยิ่งมีเยอะ ก็ยิ่งดูแลห่วงโซ่เยอะ เมื่อหายไปก็ส่งผลกระทบรุนแรงต่อห่วงโซ่อาหาร โดยเฉพาะในฐานะผู้ทำความสะอาดระบบนิเวศชายหาดชัดเจนอยู่แล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"วราวุธ" ขอบคุณที่เอา "ปูเสฉวน" คืนทะเล ชี้เป็นคนมีชื่อเสียงควรระวัง