จากการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภาค 8 ที่ขอลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในปัจจุบัน และเป็นอดีตหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา เมื่อปี 2558
ได้เปิดเผยเชื่อมโยงบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไปถึงทั้งตำรวจ นายทหารในพื้นที่ และเกี่ยวพันไปถึงนายตำรวจใหญ่ที่มีอำนาจในขณะนั้น ปัจจุบันบางคนเกษียณอายุราชการไปแล้ว บางคนยังรับราชการอยู่
และยังรวมไปถึงระดับ “บิ๊ก” ในรัฐบาล ตั้งแต่เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ปี 2558 และที่ยังอยู่ในปัจจุบัน
ผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือที่เกิดขึ้น ไม่เพียงต่อตัวบุคคลที่ถูกพาดพิงถึงเท่านั้น แต่จะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ และกระบวนการยุติธรรมของไทยโดยตรง
เพราะมีผู้เกี่ยวข้องและต่อมากลายเป็นต้องหาในคดี ถูกออกหมายจับมากถึง 153 ราย โดยมีข้อหาหลักๆ ความผิดฐานค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และมีส่วนร่วมกับอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 นอกจากนี้ ยังความผิดอื่น ๆ อีกหลายข้อหา
ก่อนจะถูกคำพิพากษาของศาล สั่งตัดสินจำคุกผู้ต้องหาระหว่าง 4-92 ปี พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทัพบก ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่มีระดับยศสูงสุด ของคนในเครื่องแบบ ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจากจำคุก 27 ปี เป็น 82 ปี ขณะที่นายปัจจุบัน หรือโกโต้ง อังโชติพันธุ์ อดีตนายกฯอบจ.สตูล ผู้ต้องหาพลเรือนที่มีตำแหน่งสูงสุด ต้องโทษจำคุก 75 ปี
สำหรับ พล.ต.ต.ปวีณ ได้รับผลตอบแทน คือโดนย้ายไปจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ จนเจ้าตัวต้องขอลี้ภัยไปอยู่ออสเตรเลีย และทิ้งประโยคทองที่ว่า ..”ถ้าให้ผมทำต่อจะได้ปลาใหญ่เพิ่มขึ้น”
ความจริง เหตุการณ์ทลายและจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ครั้งนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทย ได้รับการเลื่อนอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ที่จัดทำเป็นประจำทุกปี จากเทียร์ 2 วอทช์ลิสต์ (เฝ้าระวัง) ขึ้นไปเป็นเทียร์ 2 ซึ่งสูงที่สุดของไทย ในปี 2561
เพราะภาพที่ปรากฏคือการเอาจริงเอาจัง ปรามปราบคนในเครื่องแบบมีอิทธิพลในพื้นที่อย่างไม่กลัวเกรง และยังได้รับอานิสงส์อยู่ในเทียร์ 2 ถึง 3 ปี ติดต่อกัน จนถึงปี 2563 ก่อนที่ปี 2564 จะถูกปรับลงไปเป็นกลุ่มเฝ้าระวังอีกครั้ง
แม้จะมีข้อเสนอจากพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะจากพรรคก้าวไกล นำโดย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.ผู้ทำหน้าที่อภิปรายเรื่องนี้ ในญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อปลายปี 2564
จะเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งกรรมการสอบและพักงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ถูกพาดพิงถึงเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ แต่ล่าสุดยังคงถูกปฏิเสธจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่โบ้ยให้ทางตำรวจเป็นผู้ชี้แจงตอบคำถามเอง
ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเขียนบทความถาม พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตำรวจ หรือกตร.ว่า
เหตุใดไม่ให้ พล.ต.ต.ปวีณ ทำคดีค้ามนุษย์ต่อ และทำไมเด้งไปพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) แต่ไม่มีคำตอบอะไร นอกจากให้สัมภาษณ์สื่อในทำนอง พล.ต.ต.ปวีณขอลี้ภัยไปเอง ตนไม่ได้สั่ง และให้กลับมาทำเรื่องร้องขอความเป็นธรรมตามขั้นตอนขึ้นมา
เรื่องจึงยังไม่ไปถึงไหน เหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่างเช่นเดิม กระทั่งสำนักข่าว อัลจาซีรา ถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ และนำออกเผยแพร่ไปทั่วโลกอีกครั้ง