กรณีมีข่าวประเทศจีนพบเด็กชาย 4 ขวบ ติดเชื้อไข้หวัดนก สายพันธุ์ H3N8 เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา วันนี้ (29 เม.ย.2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กองโรคติดต่อทั่วไป ตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ พบหวัดนกสายพันธุ์ H3N8 เคยมีการตรวจพบเชื้อในม้า สุนัข นก และแมวน้ำจากทั่วโลก แต่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย H3N8 ในมนุษย์มาก่อน
ทั้งนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานว่าจากการประเมินเบื้องต้นระบุว่า เชื้อดังกล่าวมีความสามารถในการแพร่เชื้อสู่มนุษย์ และความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในวงกว้างอยู่ในระดับต่ำ สำหรับผู้ป่วยเด็กที่พบในประเทศจีนครั้งนี้ นับเป็นรายแรกที่มีการแพร่ระบาดจากสัตว์มาสู่คน
ในไทยไม่พบมีรายงานตั้งแต่ปี 2549
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนทั่วโลก ตั้งแต่เดือนม.ค.2546 ถึง 13 ม.ค.2565 มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ใน 18 ประเทศ 863 คน เสียชีวิต 455 คน คิดเป็นร้อยละ 53 ได้รับรายงานพบผู้ติดเชื้อรายสุดท้าย เมื่อ 21 ก.ค.2564 จากประเทศอินเดีย
ส่วนไทย ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานผู้ติดเชื้อช่วงปี 2547-2549 พบผู้ป่วย 25 คน เสียชีวิต 17 คน หลังจากนั้นไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน
ชี้ยังมีโอกาสเสี่ยงไข้หวัดนกระบาดจากชายแดน
นอกจากนี้ ข้อมูลถึงวันนี้ (29 เม.ย.) จากโปรแกรมตรวจสอบการระบาด ของกองระบาดวิทยา ไม่มีรายงานผู้ป่วยสงสัยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคและข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ไม่มีรายงานรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติจากโรคไข้หวัดนก
ในไทยอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศได้ เพราะพบการระบาดในสัตว์ ในแถบประเทศเพื่อนบ้าน และมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศ จึงมีโอกาสที่จะแพร่ระบาดมาสู่สัตว์ปีก ที่มีการเลี้ยงในบริเวณพื้นที่จังหวัดชายแดนของไทย
ดังนั้น ขอแนะนำให้ประชาชนกินเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วย หรือตาย หากไปที่ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน และต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จีนพบเด็ก 4 ขวบ ติด "ไข้หวัดนก H3N8" คนแรก