ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"กาโตะ" ยอมรับเบิกเงินวัด 6 แสนบาท ปิดเรื่องฉาว

สังคม
4 พ.ค. 65
10:20
854
Logo Thai PBS
"กาโตะ" ยอมรับเบิกเงินวัด 6 แสนบาท ปิดเรื่องฉาว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"กาโตะ" ยอมรับเเล้ว เบิกเงินวัด 6 แสนบาทให้คนกลาง ยืนยันกับหนุ่ม กรรชัย จะนำเงินไปคืนให้วัดวันนี้ ขณะที่ "ศรีสุวรรณ" ร้อง กมธ.ศาสนาฯ ส.ส.และ ส.ว.แก้กฎหมายเอาผิดพระทำปาราชิก

วันนี้ (4 พ.ค.2565) นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการเรื่องเล่าเช้านี้ โพสต์เฟซบุ๊ก "สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว" รายงานว่า "อดีตพระกาโตะ" หรือ นายพงศกร จันทร์แก้ว ยอมรับว่า เบิกเงินวัดไป 6 แสน ในฐานะรักษาการเจ้าอาวาส โดยช่างเป็นคนไปเบิกเงิน เพื่อนำเงินไปให้ "คนกลาง"(จ่ายสีกาตอง และสื่อ)

และยืนยันกับ หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรรายการโหนกระแสว่า วันนี้จะนำเงินจากญาติไปคืนให้วัด ยืนยันไม่มีเจตนาเอาเงินวัด แต่เพราะคนกลางเร่งรัด จะเอาเงินให้ได้

 

"ศรีสุวรรณ" ร้องแก้กฎหมายเอาผิดพระทำปาราชิก

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันนี้สมาคมฯ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อขอให้เป็นเจ้าภาพในการพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อเอาผิดพระและสีกาที่เสพเมถุน อันเป็นการกระทำผิดพระธรรมวินัยขั้นปาราชิก ให้มีโทษทางอาญา

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากกรณีของสมีกาโตะและสีกา ได้ออกมายอมรับกันว่า ได้ร่วมกันเสพเมถุนในรถบนสันเขื่อน จนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั้งประเทศอยู่ในขณะนี้ จนทำให้พระกาโตะต้องลาสิกขาไปแล้ว กลายเป็นสมี ซึ่งต้องห้ามไม่สามารถกลับมาบวชเป็นพระได้อีกตลอดชีวิต แต่ในทางโลกนั้นกลับไม่มีกฎหมายใด ๆ ที่จะเอาผิดผู้ที่ร่วมกระทำการดังกล่าวได้ แม้จะเป็นการทำให้พระศาสนาเสื่อมเสียอย่างมหาศาลก็ตาม ผิดกับประเทศลาวเพื่อนบ้านเรา ที่เขามีกฎหมายลงโทษผู้ที่กระทำการดังกล่าวในทางอาญาโดยมีโทษจำคุกถึง 3 ปีได้


ซึ่งประเทศไทยเรากลับไม่มีกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวโดยตรงเลย มีแต่ประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 4 เป็นความผิดเกี่ยวกับศาสนา (ม.206-208) แต่ก็เป็นเรื่องของการเหยียดหยามศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของวัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับตัวบุคคลแต่อย่างใด หรือการก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน นมัสการ หรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนา และการแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักบวชเท่านั้น ไม่ได้มีบทบัญญัติที่จะต้องเอาผิดผู้ที่กระทำการชั่วช้าเลวทรามโดยการเสพเมถุนในขณะเป็นพระ ทำให้ศาสนาเสื่อมเสียแต่อย่างใดเลย

ส่วนในเรื่องทรัพย์สินเงินทองของพระที่ได้มาในขณะเป็นพระภิกษุนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1623 ระบุไว้แต่เพียงว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้น จะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิต หรือโดยพินัยกรรม ซึ่งไม่ได้บัญญัติป้องกันมิให้อลัชชีที่แอบเข้ามาบวชเป็นพระเอาผ้าเหลืองบังหน้า หากินสร้างชื่อเสียงมีเงินทองมากมาย จนสามารถนำไปปรนเปรอบำรุงบำเรอสีกา แอบโอนให้กันเป็นหมื่นเป็นแสนได้ หรือแอบนำไปให้ญาติซื้อที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้ หรือพระบางรูปเมื่อลาสิกขาแล้ว ยังสามารถขนเอาทรัพย์สินเงินทองติดตามตัวไปด้วย จนสามารถนำไปทำธุรกิจมากมาย โดยกฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้

เพื่อเป็นการคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยการมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.67 กำหนด สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงนำกรณีดังกล่าวร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการเป็นต้นเรื่องในการเร่งเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อยับยั้งและป้องปรามผู้ที่กระทำการดังกล่าวเสียโดยเร็ว

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"กาโตะ" แฉกลาง "โหนกระแส" อ้างถูกแบล็กเมล์-รับคลิปเสียงจริง

"พระกาโตะ" ลาสิกขาแล้ว ระบุ เป็นเพียง "พระนวกะ" อ่อนพระวินัย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง