วันนี้ (11 พ.ค.2565) เวลา 09.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และ การช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ.2565 รวมทั้งแถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุม
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วนราชการ ได้ผนึกกำลังเพื่อผลักดันให้ผลงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์ โดยเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ.2565 เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในทุกขั้นตอนของกลไกการส่งต่อระดับชาติ แนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการคดี และการกำกับและติดตามแผนปฏิบัติการฯ รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นกรอบแนวทางและขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) นับว่าไทยเป็นต้นแบบในภูมิภาคอาเซียน
มั่นใจปีนี้ไทยได้เลื่อนเป็น "เทียร์ 2"
ต่อจากนั้น พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธาน ปคม. ได้แถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาล โดยในปี 2564 รัฐบาลไทยได้ใช้ความพยายามสืบสวนปราบปรามทางสื่อออนไลน์ และสกัดจับการลักลอบขนคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมทั้งการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกลวงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา) ทำให้มีผลการจับกุมคดีค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้นจากปี 2563 จาก 133 คดี เพิ่มขึ้นเป็น 188 คดี และในช่วง เม.ย.64-มี.ค.65 ได้ขับเคลื่อนการทำงานตามข้อเสนอแนะในรายงานทิพรีพอร์ต (2021 US TIP Report) จนสำเร็จครบทั้ง 15 ข้อ รวมทั้งได้เริ่มโครงการสำคัญ (Flagship Project) อีก 4 โครงการ ได้แก่ จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วย กลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ.2565, จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ระดับประเทศ, จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ และออกมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยระดับสากลอย่างยั่งยืน
รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปเน้นย้ำให้มีการทำงานร่วมกับองค์กร NGOs องค์กรภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จที่ขับเคลื่อนงานอย่างจริงจัง และต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งทุกหน่วยต้องปรับรูปแบบการทำงานวิถีใหม่ โดยย้ำเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป เชื่อมั่นว่าประเทศไทยสมควรได้รับการเลื่อนระดับเข้าสู่ Tier 2 ในปีนี้